Vios Super Cup เมืองพญาแล ครั้งที่1

Vios Super Cup เมืองพญาแล ครั้งที่1 เพจนี้สำหลับผู้เข้าร่วม

22/08/2021
_/|\_ ประวัติ “พระยาภักดีชุมพล (แล)” Praya Pakdee Chumpol (Lae) : ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิและเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ซึ่งชาว...
26/05/2021

_/|\_ ประวัติ “พระยาภักดีชุมพล (แล)” Praya Pakdee Chumpol (Lae) : ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิและเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ซึ่งชาวเมืองนิยมขนานนามท่านด้วยความเคารพยกย่องว่า “เจ้าพ่อพญาแล” ปฐมบรรพบุรุษตระกูล “ภักดีชุมพล” "^_____^"

พระยาภักดีชุมพล (แล) หรือเจ้าพ่อพญาแล เดิมเป็นชาวเวียงจันทน์ ชื่อว่า “ท้าวแล” รับราชการเป็นข้าราชสำนักอยู่ในวัง ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง “เจ้าราชบุตร (โย้)” เจ้าผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์ พระโอรสองค์ที่ ๓ ใน “เจ้าอนุวงศ์” เจ้าผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ (ทรงเป็นกษัตริย์ลาวองค์สุดท้ายแห่งเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นประเทศราชหรือเมืองขึ้นของสยามมาตั้งแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา)

ราว พ.ศ. ๒๓๖๐ แต่จะเป็นเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ ทำให้ท้าวแลออกจากราชสำนัก แล้วอพยพครอบครัวและรวบรวมไพร่พลได้ประมาณร้อยกว่าคนเศษ เดินทางออกจากเมืองเวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ำโขงที่เมืองไชยบุรี แขวงหลวงพระบาง เพราะเป็นพื้นที่ตื้นเขิน สะดวกในการลำเลียงไพร่พลและเสบียงอาหาร เดินทางมาจนถึงฝั่งสยามที่หนองบัวลำภู (ปัจจุบันคือจังหวัดหนองบัวลำภู) ได้พำนักอยู่ ณ ที่แห่งนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษ ท้าวแลเห็นว่าหนองบัวลำภูเป็นทำเลที่ยังไม่เหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐาน จึงได้อพยพครอบครัวพร้อมด้วยไพร่พลเดินทางต่อไปเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่ กระทั่งมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านหนองน้ำขุ่น หนองอีจาน ลำตะคอง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)

พ.ศ. ๒๓๖๒ การประกอบอาชีพที่บ้านหนองน้ำขุ่น หนองอีจาน ลำตะคอง เริ่มฝืดเคือง ท้าวแลจึงได้นำไพร่พลเดินทางลึกเข้ามาแล้วย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าเดิม คือที่ “บ้านโนนน้ำอ้อม” ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ราบใหญ่ล้อมรอบด้วยลำน้ำ (บ้านโนนน้ำอ้อมอยู่ระหว่างบ้านขี้เหล็กใหญ่กับบ้านหนองนาแซง กับบ้านโนนกอก ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านชีลอง ตำบลชีลอง อำเภอเมืองชัยภูมิ ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิเวลานี้ประมาณ ๖ กิโลเมตร)

ท้าวแลเป็นผู้มีความสามารถ วิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์สุจริต และมีบุคลิกลักษณะพิเศษกว่าบุคคลอื่นๆ จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า ท่านปกครองเมืองในลักษณะพ่อปกครองลูก พี่ปกครองน้อง สั่งสอนให้มีความสามัคคีปรองดอง ต้องช่วยกันทำมาหากิน โดยให้เหตุผลว่าการสร้างบ้านสร้างเมืองนั้นราษฎรจะต้องมีอยู่มีกินและเป็นสุข การสร้างเมืองจึงถือว่าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความวิริยะอุตสาหะ คุณงามความดีของผู้เป็นหัวหน้า ท้าวแลจึงรวบรวมไพร่พลได้ ๑๓ หมู่บ้านในขณะนั้น คือ ๑. บ้านแสนพัน (บ้านสามพัน) ๒. บ้านบุ่งคล้า ๓. บ้านกุดตุ้ม ๔. บ้านบ่อหลุบ (ข้างๆ บ้านโพนทอง) ๕. บ้านบ่อแก ๖. บ้านนาเสียว (บ้านเสี้ยว) ๗. บ้านโนนโพธิ์ ๘. บ้านโพธิ์น้ำล้อม ๙. บ้านโพธิ์หญ้า ๑๐. บ้านหนองใหญ่ ๑๑. บ้านหลุบโพธิ์ ๑๒. บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง) ๑๓. บ้านโนนไพหญ้า (บ้านร้างข้างๆ บ้านเมืองน้อย) ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้เปลี่ยนชื่อไปแล้วก็มี ชาวบ้านในครั้งนั้นจึงพร้อมใจกันยกย่องเชิดชูให้ท้าวแลเป็นหัวหน้าผู้ปกครอง...นับเป็นการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก

ฝ่าย “นางบุญมี” ผู้เป็นภรรยาของท้าวแล เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและชำนาญในการถักทอผ้า ออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้ติดตัวมาจากบรรพบุรุษ ก็มิได้นิ่งดูดายได้พยายามฝึกอบรมชาวบ้านให้รู้จักทอผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาว ผ้าดำ ผ้าซิ่นหมี่ กระทั่งชาวบ้านเข้าใจในการทอผ้า ทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกินดีขึ้น ท้าวแลเห็นว่าราษฎรของตนมีอยู่มีกินแล้วก็มิได้ลืมบุญคุณของเจ้านายเดิม จึงได้รวบรวมส่วยเครื่องราชบรรณาการนำไปถวาย “เจ้าอนุวงศ์” แห่งเมืองเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ได้ปูนบำเหน็จความชอบแต่งตั้งท่านให้เป็นที่ “ขุนภักดีชุมพล” นายกองนอก ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับหัวหน้าคุมหมู่บ้านขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์

*

ต่อมา ขุนภักดีชุมพล (แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อม (บ้านชีลอง) เริ่มฝืดเคือง แออัดคับแคบ ขาดความอุดมสมบูรณ์ และอดน้ำ (น้ำสกปรก) เนื่องจากมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ไม่เหมาะสมที่จะตั้งเมืองใหญ่ จึงได้หาที่แห่งใหม่อีกครั้ง ปรากฏว่าที่แห่งใหม่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิมอยู่ไม่ห่างไกลนักจากบ้านโนนน้ำอ้อม

พ.ศ. ๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่อยู่ที่ “บ้านหลวง” ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านหนองหลอดกับบ้านหนองปลาเฒ่า (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ) ณ ที่แห่งนี้ ชื่อเสียงกิตติศักดิ์ คุณงามความดีของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป จนมีผู้คนให้ความเคารพและอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานสมัครเป็นพรรคพวกเพิ่มมากขึ้น มีชายฉกรรจ์ ๖๖๐ คนเศษ จนเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์เกิดความสงสัย ท่านอาศัยความชาญฉลาดทูลให้เจ้าอนุวงศ์หายสงสัยได้

ระหว่างพำนักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านโนนน้ำอ้อมและบ้านหลวง ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้เรียนเวทย์มนต์ คาถาวิชาอาคม อยู่คงกระพันถึงขนาดฟันไม่เข้ายิงไม่ออก จาก “ปู่ด้วง” ชีปะขาวแห่งภูแลนคา บ้านตาดโตน ปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญผู้รอบรู้ภาษาขอมและวิทยาการหลากหลาย อีกทั้งมีคาถาอาคมแก่กล้า

ปู่ด้วงท่านเป็นคนเชื้อสายเขมร อพยพเข้ามายังฝั่งสยามในเวลาใกล้เคียงกับเจ้าพ่อพญาแล โดยท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถกรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๗ ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้รับรายงานจาก “ท้าวศิริ” แห่งหนองบัวแดง (เป็นชาวเวียงจันทน์ซึ่งติดตามบิดามารดาออกมาช่วยราชการสงครามที่กรุงเทพฯ ตามธรรมเนียมของประเทศราชหรือเมืองขึ้น) ว่าได้ค้นพบบ่อทองคำนอกเขตบ้านหลวงบริเวณเชิงเขาภูขี้เถ้า ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อหรือพระยาพ่อ ที่ลำห้วยชาด ได้เรียกที่ตรงนั้นต่อๆ กันมาว่า บ่อทองโข่โหล่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และเขตอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ) ท่านจึงได้เกณฑ์ชาวบ้านชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยขุดหาทองคำได้พอสมควร เมื่อได้มาแล้ว เห็นว่าควรนำทองคำในบ่อนี้ถวายเป็นส่วยเครื่องราชบรรณาการแก่เจ้าอนุวงศ์ และขอยกฐานะ “บ้านหลวง” ขึ้นเป็นเมือง เจ้าอนุวงศ์พอพระทัยอย่างยิ่งจึงพระราชทานนามเมืองแก่ขุนภักดีชุมพล (แล) ว่า “เมืองไชยภูมิ” (ไชยภูมิ์) เพื่อเป็นนิมิตมงคลแก่เมืองเวียงจันทน์ และปูนบำเหน็จความชอบเลื่อนบรรดาศักดิ์ท่านให้เป็นที่ “พระภักดีชุมพล” เจ้าเมืองไชยภูมิ ส่วนนางบุญมี ผู้เป็นภรรยา ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ท้าวบุญมี” สำหรับท้าวศิรินั้นได้รับการปูนบำเหน็จความชอบเลื่อนบรรดาศักดิ์ในคราวเดียวกันเป็น “หลวงศิริ”

*

ทว่าต่อมา พระภักดีชุมพล (แล) ไม่ยอมส่งส่วยเครื่องราชบรรณาการให้ทางเมืองเวียงจันทน์อีกต่อไป เพราะเห็นว่าเมืองเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ อยู่แล้ว เนื่องจากในเวลานั้นหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้เมืองชัยภูมิ เช่น เมืองสี่มุม (อำเภอจัตุรัส), เมืองเกษตรสมบูรณ์, เมืองภูเขียว ฯลฯ ต่างก็อยู่ภายใต้การดูแลของเมืองนครราชสีมา และขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ กันหมดแล้ว ด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์แห่งสยาม ท่านจึงเข้าหา “เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)” เจ้าเมืองนครราชสีมา ขอมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และอาสาส่งส่วยเก็บผลถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการให้ทางกรุงเทพฯ แต่บัดนั้นมา ความดีความชอบในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะ “บ้านหลวง” (เมืองไชยภูมิ) ขึ้นเป็น “เมืองชัยภูมิ” ตามนามเมืองเดิมที่ได้รับพระราชทานมาจากเจ้าอนุวงศ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ท่านให้เป็นที่ “พระยาภักดีชุมพล” เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก...เหตุการณ์นี้จึงสร้างความไม่พอใจแก่ทางฝ่ายเมืองเวียงจันทน์อย่างมาก อีกทั้งสร้างความลำบากใจแก่พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่น้อย เนื่องด้วยท่านเป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์ เคยเป็นข้าราชสำนักใกล้ชิด มีความสนิทสนมและจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันเมืองชัยภูมิก็ตั้งอยู่ใกล้เขตแดนของสยาม ท่านจึงยินยอมให้สยามปกครอง

พ.ศ. ๒๓๖๙ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระยาภักดีชุมพล (แล) ก็ได้นำทองคำเป็นส่วยเครื่องราชบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้โปรดรับสั่งกับพระยาภักดีชุมพล (แล) ว่า “ให้ตั้งใจปฏิบัติราชการปกครองรักษาบ้านเมืองไว้ให้ดี”

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อเห็นว่าพระยาภักดีชุมพล (แล) ตีตัวออกห่าง จึงไม่พอใจอย่างมาก เริ่มคิดแข็งเมืองก่อการกบฏเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช มีการซ่องสุมไพร่พล เสบียงอาหารและอาวุธ ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๖๙ นี้เอง เจ้าอนุวงศ์ และเจ้าราชบุตร (โย้) พระโอรสผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์ ได้ประกาศแข็งเมือง ก่อการกบฏยกทัพล่วงล้ำเข้ามาบนเขตแดนสยามหมายตีกรุงเทพฯ แล้วเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน (หัวเมืองลาวอีสาน) ให้ยอมเข้าร่วมทัพด้วย โดยหลอกหัวเมืองต่างๆ ว่าที่เดินทัพผ่านมาก็เพื่อเข้ามาช่วยกรุงเทพฯ รบกับอังกฤษ ซึ่งในเวลานั้นสยามกำลังพิพาทกับอังกฤษเรื่องแนวเขตแดนด้านพม่าและมลายู ทำให้กองทัพของเจ้าอนุวงศ์สามารถเดินทัพผ่านมาได้โดยสะดวก หากเจ้าเมืองใดทราบความจริงและต่อต้านก็จะสังหารเสีย จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา ไม่อยู่ว่าราชการ

ฝ่าย “พระนรินทร์สงคราม (ทองคำ)” เจ้าเมืองสี่มุม (อำเภอจัตุรัส) ในขณะนั้น ยอมสวามิภักดิ์และเข้าด้วยกับเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นลาวด้วยกัน เจ้าอนุวงศ์จึงทรงปูนบำเหน็จความชอบแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ของพระนรินทร์สงคราม (ทองคำ) ให้สูงขึ้นโดยเลื่อนให้เป็นที่ “พระยานรินทร์สงคราม” ให้เป็นเจ้าเมืองและแม่ทัพใหญ่รักษาค่ายเมืองหนองบัวลำภู (เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน)

พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ท่านเป็นเจ้าเมืองสี่มุมคนที่ ๒ คนทั่วไปนิยมออกนามว่า พระยานรินทร์, พระยาโนลิน, เจ้าจอมนรินทร์ หรือ เจ้าจอมปากช่องภูเวียง โดยท่านเป็นบุตรของพระนรินทร์สงคราม (อาจารย์คำ) ผู้สร้างเมืองสี่มุมและเจ้าเมืองสี่มุมคนแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปฐมบรรพบุรุษตระกูล “ลาวัณบุตร” (Lavanaputra) แห่งอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

ต่อมาเมื่อความแตก ทั้งเหนือและใต้รู้ชัดว่าเจ้าอนุวงศ์คิดก่อการกบฏกู้อิสรภาพจากสยาม เจ้าอนุวงศ์จึงถอนทัพโดยได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาและยึดทรัพย์สินเพื่อนำกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ “คุณหญิงโม” ภรรยาพระยาสุริยเดช (ทองคำ) ปลัดเมืองนครราชสีมา เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง ‘วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์’ ที่ยังเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ ขณะพักทัพอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย เกิดความปั่นป่วนหญิงชายชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้...ฝ่าย “พระยาภักดีชุมพล (แล)” พิจารณาเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ เจ้านายเดิมของตนทำไม่ถูกต้อง แม้ท่านจะเป็นชาวเวียงจันทน์แต่ก็มีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งสยามยิ่งนัก ท่านพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบช่วยคุณหญิงโม และครัวเรือนชาวเมืองนครราชสีมา ทำการตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่ายไป กระทั่งฝ่ายสยามสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด แต่ในขณะที่ทัพเจ้าอนุวงศ์ล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาก็ได้จุดไฟเผาบ้านเมือง รื้อกำแพงเมืองออก ฯลฯ ครั้นเมื่อเห็นว่าจะทำการต่อไปได้ไม่ตลอด ไม่มีทางจะสู้แล้ว เจ้าอนุวงศ์จึงสั่งให้ “เจ้าสุทธิสาร (โป๋)” ผู้เป็นพระโอรสองค์โต ยกกำลังส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมา แล้วให้ไปยึดเมืองชัยภูมิและเมืองภูเขียว อันเป็นด่านสุดท้ายไว้เป็นกำลังต่อต้านทัพกรุงเทพฯ เพราะด่านอื่นๆ ที่เจ้าอนุวงศ์ยึดครองไว้แต่แรกได้แตกพ่ายไปหมดสิ้น

เมื่อทัพเจ้าสุทธิสาร (โป๋) ยกมาถึงเมืองชัยภูมิ ได้เกลี้ยกล่อมพระยาภักดีชุมพล (แล) ให้เข้าร่วมก่อการกบฏด้วย แต่ท่านไม่ยอมเข้าร่วมด้วยเพราะยังมีความจงรักภักดีต่อกษัตริย์แห่งสยามอยู่ เจ้าอนุวงศ์เกิดความเคืองแค้นยิ่งนักที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับฝ่ายลาว ซ้ำยังยกทัพมาช่วยฝ่ายสยามตีกระหนาบทัพลาวอีกด้วย จึงย้อนกลับมายังเมืองชัยภูมิ เข้าจับตัวพระยาภักดีชุมพล (แล) ไว้ ซึ่งท่านก็ไม่ขัดขืนยินยอมให้จับเสียโดยดี เพราะมีกำลังพลน้อยกว่าและไม่ประสงค์จะให้ไพร่พลของตนต้องมาล้มตาย ทหารเจ้าอนุวงศ์จึงประหารชีวิตพระยาภักดีชุมพล (แล) ที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่หรือมะขามเฒ่า ริมหนองปลาเฒ่า

เล่ากันว่า ตอนทหารเจ้าอนุวงศ์สังหารพระยาภักดีชุมพล (แล) นั้น ไม่ว่าจะใช้ดาบใช้มีดฟันอย่างไรก็ไร้ผล ด้วยวิชาคงกระพันที่ร่ำเรียนมาจากปู่ด้วงทำให้ท่านปลอดภัยจากอาวุธทั้งปวง แต่สุดท้ายแล้วก็ถูกทหารเจ้าอนุวงศ์ใช้เหล็กแหลมเสียบเข้าทางทวารหนักจนถึงแก่ความตายในที่สุด

*

เหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ครั้งนี้ทำให้เกิดวีรกรรมต่างขั้วของ ๒ เจ้าเมืองใหญ่ขณะนั้น คือ

ขั้วที่ ๑ “พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)” เจ้าเมืองสี่มุม (อำเภอจัตุรัส) ที่เห็นพ้องและยอมสวามิภักดิ์เข้าด้วยกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์...กระทั่งยอมสละชีวิตเพื่อรักษาสัจจะด้วยจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเยี่ยงชายชาติทหาร ครั้นเมื่อทัพลาวแตกพ่ายยับเยินแล้วท่านในฐานะแม่ทัพใหญ่-แม่ทัพเอกก็ถูกทัพสยามเอาช้างแทงจนถึงแก่ความตายในที่สุด

ในประวัติศาสตร์การรบพุ่งในครั้งนั้น มีการกล่าวถึงวีรกรรมนักรบหนังเหนียวของ “พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)” ว่า...หลังถูกเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์แล้ว เจ้าอนุวงศ์จึงทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าเมืองและแม่ทัพใหญ่รักษาค่ายเมืองหนองบัวลำภู (เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน) แล้วให้ตั้งค่ายเพื่อต่อสู้กับทัพกรุงเทพฯ ด้วยไม้จริงยาว ๓๐ เส้น กว้าง ๑๖ เส้น ครั้นเมื่อทางกรุงเทพฯ ทราบว่าเจ้าอนุวงศ์คิดแข็งเมืองก่อการกบฏประกาศสงครามกู้เอกราชลาว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพออกปราบ โดยแต่งตั้งให้ ‘กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ’ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่ทัพหลวง และให้ ‘เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)’ เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระยาราชสุภาวดี เป็นแม่ทัพหน้า ยกทัพไปปราบกบฏตีหัวเมืองต่างๆ จนถึงเมืองเวียงจันทน์กระทั่งทัพลาวแตกพ่ายอย่างราบคาบ แล้วได้กวาดต้อนผู้คนรี้พลจากเมืองเวียงจันทน์ เมืองมหาชัยกองแก้ว และฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกลับมายังสยามด้วย ผู้คนรี้พลที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ อยู่หลายแห่ง

ในขณะที่ทัพหน้าของสยามมาถึงค่ายเมืองหนองบัวลำภู (เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน) นั้น พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ) ได้เข้าต่อสู้กับสยามเป็นสามารถ ท่านเป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ มีฝีมือในการรบ มีวิชาคาถาอาคมแก่กล้า มีจิตใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ต่อสู้จนไพร่พลแตกหนีหมด เหลือแต่ตัวกับหลานชายและพลทหารอีก ๖ คน ท่านก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้จนเสียหลักตกจากหลังม้าถูกจับได้ แล้วส่งตัวมายังทัพหลวงซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่หุบเขาภูเวียง

ฝ่ายสยามเห็นความเป็นยอดนักรบ มีความกล้าหาญ จึงเสนอขอชุบเลี้ยงและจะให้ตำแหน่งเป็นแม่ทัพใหญ่ตามเดิม แต่ท่านไม่สนใจใยดี ไม่ยอมรับไม่ยอมสวามิภักดิ์ ขอตายอย่างสมเกียรติแม่ทัพคือให้เอาช้างแทงเสียโดยไม่สะทกสะท้าน และให้มีการจัดการศพเหมือนเชลยทั่วไป

ดังนั้น กรมพระราชวังบวรฯ จึงสั่งให้ประหารชีวิต แต่ด้วยความที่ท่านมีคาถาอาคมแก่กล้า ทหารใช้ปืนยิง ดาบฟัน หอกแทงอย่างไรก็ไม่ระคายผิวเลยแม้แต่น้อย จึงสั่งให้เอาตัวไปผูกติดกับต้นไม้และใช้ช้างพลายแทงจนตาย ณ ที่ต้นยางใหญ่ ตรงทางโค้งใกล้กับหนองน้ำ “บุ่งกกแสง” ปัจจุบันอยู่บริเวณทางโค้งห่างจากศาลเจ้าจอมนรินทร์ไปประมาณ ๑๐๐ เมตร ภายหลังฝ่ายสยามได้ประทับใจในความเป็นวีรบุรุษนักรบผู้ทรงคุณธรรม เด็ดเดี่ยวกล้าหาญสมเป็นจอมคน จึงพร้อมใจกันจัดสร้าง ‘ศาลเจ้าจอมนรินทร์’ หรือ ‘ศาลเจ้าจอมปากช่องภูเวียง’ ขึ้นที่บริเวณปากช่องภูเวียง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงความซื่อสัตย์ของท่าน อีกทั้งเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป ในขณะนั้นคนทั่วไปเรียกศาลเจ้าแห่งนี้ว่า ‘ศาลเจ้าจอม’ คือเป็นศาลเจ้าของ ‘จอมคน’ จริงๆ ศาลเจ้าแห่งนี้ประชาชนทั่วไปทั้งใกล้ไกลให้ความเคารพว่าทรงความศักดิ์สิทธิ์มาก

ขั้วที่ ๒ “พระยาภักดีชุมพล (แล)” เจ้าเมืองชัยภูมิ ที่ไม่เห็นพ้องและไม่ยอมสวามิภักดิ์เข้าด้วยกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์...กระทั่งถูกทหารเจ้าอนุวงศ์ประหารชีวิต โดยท่านไม่ขัดขืนยินยอมให้จับและฆ่าเสียโดยดี เป็นการยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องรักษาเมืองไว้...พระยาชาวลาวผู้กู้แผ่นดินสยาม

เจ้าเมืองทั้งสองแม้ว่าต่างเป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์เหมือนกัน ยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามเหมือนกัน แต่ภายหลังก็อยู่กันคนละขั้ว และต้องยอมสละชีวิตของตนในศึกคราครั้งนี้เหมือนกัน

ในบทเรียนของประวัติศาสตร์ลาว บอกว่า “เจ้าอนุวงศ์ คือมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงทำการกอบกู้เอกราชเมืองเวียงจันทน์ปลดแอกจากอำนาจของสยาม ถึงแม้พระองค์จะทรงทำการไม่สำเร็จ แต่ชาวลาวก็ยังยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติ เฉกเช่นชาวไทยยกย่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ฉะนั้น”

*

การเสียชีวิตของพระยาภักดีชุมพล (แล) ในครั้งนั้น ถือเป็นวีรกรรมเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ชาวเมืองชัยภูมิจดจำและระลึกถึงตลอดมา อีกทั้งได้ยกย่องเชิดชูและขนานนามท่านด้วยความเคารพว่า “เจ้าพ่อพญาแล” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่...ตั้งแต่นั้นมามักเรียกขานพระยาภักดีชุมพล (แล) ว่า “เจ้าพ่อพญาแล”

ต่อมาได้มีการจัดสร้างศาลเพียงตา ศาลไม้เล็กๆ ขึ้นไว้ตรงบริเวณที่ท่านถูกประหารชีวิต ที่ชุมชนหนองปลาเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๕ (ชัยภูมิ-บ้านเขว้า) เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน และได้แกะรูปเคารพสมมติว่าเป็น “เจ้าพ่อพญาแล” ไว้ภายในศาล เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้สักการะกันสืบมา ปรากฏว่าเจ้าพ่อพญาแลได้สร้างอิทธิปาฏิหาริย์มหัศจรรย์มากมาย จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองชัยภูมิยิ่งนัก

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันจัดสร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทย อยู่ไม่ห่างจากศาลเพียงตาเดิมมากนัก ให้ชื่อว่า ศาลพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าพ่อพญาแล ภายในประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของเจ้าพ่อพญาแลในท่านั่ง ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองชัยภูมิ และจัดให้มีงานสักการะเจ้าพ่อพญาแลทุกปี โดยเริ่มจากวันพุธแรกของเดือน ๖ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เรียกว่า “งานบุญเดือนหก (สักการะเจ้าพ่อพญาแล)” ถือเป็นงานประเพณีบุญใหญ่ประจำปีของชาวชัยภูมิ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน…เจ้าเมืองผู้ยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องรักษาเมืองไว้ เจ้าเมืองผู้ภักดีต่อแผ่นดินไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อข้าศึก

อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ทางราชการร่วมกับพ่อค้าและประชาชนชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันจัดสร้าง อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล (เป็นรูปจำลองหล่อด้วยโลหะ ในท่ายืนถือหนังสือ หันหน้าไปทางทิศใต้ สูง ๒๗๐ เซนติเมตร หนัก ๗๐๐ กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูง ๔ เมตร) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิและเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าเป็นมิ่งมงคลเมืองอยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ ทั้งนี้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบอย่างในความซื่อสัตย์ เสียสละ และจงรักภักดีต่อแผ่นดิน...ใครที่จะเข้าตัวเมืองชัยภูมิ จะต้องผ่าน ‘อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล’ นี้ด้วยกันทุกคน

ที่ฐานอนุสาวรีย์ฯ มีคำจารึกความว่า...“พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙ เป็นผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ได้สร้างเมืองชัยภูมิและพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญขึ้นเป็นลำดับ ชาวชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘”

นับตั้งแต่มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ทุกปีในระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ มกราคม เป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน จะมีงานเฉลิมฉลองอนุสาวรีย์ฯ หรือเรียกกันทั่วไปว่า งานเจ้าพ่อพญาแล เป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัด ณ บริเวณรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ฯ และบริเวณสนามหน้าศาลากลาง โดยจะมีพิธีสำคัญประกอบด้วย พิธีบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพญาแล, พิธีถวายช้างให้เป็นบริวารเจ้าพ่อพญาแล, มีการแห่ขบวนทางศิลปวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการออกร้านของเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิ จึงถือเป็นงานกาชาดประจำปีด้วย

*

ผู้สืบต่อตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อๆ มา ล้วนได้รับยศบรรดาศักดิ์เป็นที่ “พระยาภักดีชุมพล” ทุกคน รวมทั้งสิ้น ๕ คน ดังนี้

• พระยาภักดีชุมพล (เกตุ) เดิมเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา บ้านอยู่คลองสายบัวกรุงเก่า ตามประวัติเดิมว่าเคยเป็นพระนักเทศน์ รับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในราชสำนัก
• พระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว) เป็นญาติของพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
• พระยาภักดีชุมพล (ที) เป็นบุตรของพระยาภักดีชุมพล (แล)
• พระยาภักดีชุมพล (บุญจันทร์) เป็นบุตรของพระยาภักดีชุมพล (เกตุ)
• พระยาภักดีชุมพล (แสง) เป็นบุตรของหลวงขจรนพคุณ, หลานปู่ของพระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว)

หลังจากที่พระยาภักดีชุมพล (แสง) เสียชีวิตเป็นต้นมา ยศบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองก็เปลี่ยนกลายเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ” ในปัจจุบันนี้

สำหรับพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือเจ้าพ่อพญาแลนั้น ท่านเป็นพระยาภักดีชุมพลได้ราว ๓ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๖๙) และเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิถึง ๑๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙)

หมายเหตุ : จาก ‘ทำเนียบนามเจ้าเมืองชัยภูมิ และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ’ และที่ ‘ฐานอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล’ บันทึกว่า พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรกในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๐-๒๓๖๙ ซึ่งปี พ.ศ. ๒๓๖๐ นั้นเป็นปีที่ท่านอพยพไพร่พลจากฝั่งลาวข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งสยาม...แต่หากนับจากปีที่ท่านได้ย้ายไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานที่ ‘บ้านหลวง’ ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ คือ ปี พ.ศ. ๒๓๖๕ แล้ว ท่านเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรกได้ ๕ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๙)

_/|\_ ขอบารมีเจ้าพ่อพญาแล...ได้โปรดปกปักรักษาลูกหลานชาวชัยภูมิ และผู้คนที่มาสักการะให้อยู่เย็นเป็นสุข พ้นเคราะห์พ้นโศกพ้นโรคพ้นภัย ประสบความสำเร็จตามความปรารถนาด้วยเทอญ

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱
:) ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก ::
- หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดชัยภูมิ พ.ศ. ๒๕๒๖
- ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดชัยภูมิ (ข้อมูลจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ)
- พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒, รัชกาลที่ ๓
ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)
- ประวัติปู่ด้วง-ย่าดี (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, ๒๕๕๖)
- ประวัติของเมืองสี่มุม (อำเภอจัตุรัส) และเจ้าเมืองสี่มุม (เจ้าเมืองจัตุรัส)
:) ขอขอบพระคุณรูปภาพจาก :: คุณ Culture and Nature, คุณ yaipearn
⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

>>> เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ ตรงนี้ค่ะ >>>
https://www.facebook.com/PUDMOBILE/posts/157945084785451

+++

เหลือแค่นี้นะครับสติ๊กเกอร์ติดกระจกรถใครที่ยังไม่ได้ติดต่อได้ทางกลุ่มได้เลยนะครับ
02/05/2021

เหลือแค่นี้นะครับสติ๊กเกอร์ติดกระจกรถใครที่ยังไม่ได้ติดต่อได้ทางกลุ่มได้เลยนะครับ

สติ๊กเกอร์แผ่นละ 250บาท
27/04/2021

สติ๊กเกอร์แผ่นละ 250บาท

สติ๊กเกอร์vios super cubแผ่นละ250บาท
11/04/2021

สติ๊กเกอร์vios super cubแผ่นละ250บาท

ที่อยู่

Nong Bua Daeng
36210

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ Vios Super Cup เมืองพญาแล ครั้งที่1ผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

แชร์


Nong Bua Daeng สำนักงานตัวแทนจัดการท่องเที่ยวอื่นๆ

แสดงผลทั้งหมด