19/10/2022
เปิงกมนูว์ .. แห่งมเหนทรบรรพต
ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 การสร้างรูปประติมากรรมศิวลึงค์ เพื่อบูชาศิวะเทพ ตามคติไศวะนิกาย ได้แพร่หลายอย่างมาก .. ต่อมาศรัทธาและความเชื่อในแบบไศวะนิกายได้เสื่อถอยลง
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อิทธิพลของคติความเชื่อแบบไวษณพนิกายและตรีมูรติ เข้ามามีอิทธิพลต่อคติความเชื่อและงานศิลปะเขมรโบราณเป็นอย่างมาก และปรากฏงานศิลปะในเรื่องราวของพระวิษณุในอวตารต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
“เพิงหินภาพวาด” หรือ “เปิงกมนูว์” ในภาษาเขมร ซึ่งเป็นเพิงหินที่ปรากฏกลุ่มภาพแกะสลักบนผนังกระจายตัวอยู่ 4 – 5 กลุ่มในบริเวณใกล้เคียงกัน ในบริเวณแนวเขาลาดลงสู่ที่ต่ำทางฝั่งทิศตะวันออกสุดของที่ราบสูงบนพนมกุเลน ทางเหนือของอำเภอสวายเลอ ประมาณ 3 กิโลเมตร .. อาจจะเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงคติการปฏิบัติที่เห็นได้ชัดในความเปลี่ยนแปลงนี้
การเดินทางไปชมภาพสลักหินเหล่านี้ เราต้องผ่านพื้นที่ที่เป็นทางที่ผ่านเข้าไปในแนวป่าโปร่ง มีถนนแคบๆที่ใช้เป็นทางเดิน และให้พาหนะขนาดเล็กจำพวกมอร์เตอรฺไซด์ และรถชขนาดเล็กๆแล่นไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในระยะทางราว 3-4 กิโลเมตร ..
เราใช้บริการรถอีแต๊กของชาวบ้านพร้อมคนขับเป็นพาหนะ .. ซึ่งก่อนที่มา เราคิดเพียงว่า มันคงเป็นการเดินทางที่สนุกสนาน แตกต่างจากรถที่เราใช้เดินทางเป็นปกติ
รถอึแต๊กแสนเท่ห์ (ในความคิดตอนแรกเริ่ม) ออกเดินทาง โดยมีสารถีที่ชำนาญทาง ให้ความมั่นใจได้ว่า การหลงทางไม่มีในพจนานุกรมการเดินทางในวันนี้แน่ๆ ..
. ก่อนหน้าวันที่เราเดินทาง เป็นวันหลังฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ ช่วงสายของวันเดินทาง ท้องฟ้าแจ่มใสพอสมควร แดดอ่อน และมีลมพัดโชยมากระทบใบหน้าในบางขณะ ทำให้รื่นรมย์ไม่น้อย
ถนนดินแคบๆพาเรามุ่งหน้าขึ้นเนินไปเรื่อยๆ .. แม้เส้นทางจะไม่ได้ลาดชันมาก แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่นักท่องเที่ยว ทำให้ถนนอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยหลุม บ่ออันเกิดจากใช้งานและการกัดเซาะของฝน และไม่ได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีเท่าที่ควร .. รถอีแต๊กเก๋ๆที่เรานั่งจึงโคลงเคลงไปมา เอียงซ้าย เอียงขวาให้เราได้ตื่นเต้น ตื่นตัว คอยปรับท่านั่งให้ยืดหยุ่นไปตามครรลองของคลื่นถนน ใจมุ่งอยู่กับโมเม้นท์ปัจจุบัน เหมือนการปฏิบัติธรรม
. บางขณะมองไปที่สารถี ผู้ที่ต้องยืนถือคันบังคับเครื่องยนต์ ตามองดูร่องตื้นลึกของถนน รวมถึงสิ่งกีดขวางต่างๆ พร้อมทั้งใช้ความชำนาญในการเลือกร่องในช่องที่ทำให้สามารถบังคับรถของเรามุ่งไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยที่สุด
. ภาพในตอนนั้น ทำให้จินตนาการไปถึง รถม้าศึกในมหากาพย์ที่โด่งดัง “มหาภารตะยุทธ์” ในขณะที่พระกฤษณะ กำลังบังคับม้าศึกให้กับอรชุน ในการรบที่ทุ่งคุรุเกษตร ... แต่บางขณะ กลับกลายเป็นตอนที่ รถของกัณนะตกหล่ม ไปซะงั้น .. แล้วเราก็ต้องลงเดิน
เราเดินทางผ่านเนินเขา ป่าโปร่ง ป่าไผ่สีเขียวของใบไม้ในหน้าฝน .. บางช่วงมีทัศนียภาพที่สวยงาม เจริญตาอย่างยิ่ง
เราสังเกตเห็นว่า พื้นที่มีหินก้อนใหญ่ๆกระจายอยู่ทั่วบริเวณ
เวลาของการเดินทางผ่ายไปราวครึ่งชั่วโมง .. เราเดินทางมาถึงหมู่โขดหินเหมือนดอกเห็ดขนาดมหึมาบน พื้นที่ราบสูงที่มีป่าและแนวเขาเป็นฉากหลัง และนี่คือ “เปิงกมนูว์” ที่เราตั้งใจมาชมและแสวงหาความรู้ของเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา
“เปิงกมนูว์” หรือ “เพิงหินภาพวาด” ได้ชื่อตามภาพวาดบนเพิงส่วนที่เหมือนดอกดห็ด หรือหลังคา แต่ภาพเหล่านั้นเราดูไม่ออก และบอกไม่ถูกว่าเป็นภาพที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร
ไฮไลท์ของ “เปิงกมนูว์” อยู่ที่ภาพสลักบนแผ่นหิน 3-4 กลุ่ม ที่จะได้เล่าให้ฟังในลำดับต่อไป
จากความเข้าใจของเรา .. ภาพชุดแรกที่ถูฏสลักขึ้น คือ กลุ่มภาพสลักของเหล่าเทพเจ้าบนเพิงหินก้อนใหญ่ แสดงภาพบุคคลขนาดใหญ่ 4 รูป สลับกับรูปเทวีขนาดเล็กเป็นครึ่งหนึ่งของรูปใหญ่ 3 รูป
. มีรูปสลักของฤๅษี หรืออาจจะเป็นนักพรต กำลังบำเพ็ญตบะในท่าโยคะสนะ จำนวน 6 รูป ที่กำลังแสดงการบูชาสักการะเหล่าเทพเจ้า แทรกอยู่
รูปขนาดใหญ่คู่กลาง ..
บุคคลทางด้านซ้ายของคู่กลาง มีพระเนตรที่สามตรงพระนลาฏ ซึ่งก็หมายถึง “พระศิวะ” คู่ทางด้านขวา มี 4 กร เป็นรูปลักษณะที่ชัดเจนของ “พระวิษณุ” ส่วนรูปบุคคลถือกระบอง ที่ขนาบข้างทั้งสองฝั่ง คือรูปของ “พระทวารบาล” นนทิเกศวร และมีรูปสลักมหากาลและรูปสิงห์
รูปเทวี 4 พระกร ทางด้านซ้ายของรูปพระวิษณุ หมายถึง “พระวิษณุศักติ” ตามคัมภีร์ “วิษณุปุราณะ”
เทวีถือดอกบัวข้างซ้ายของพระศิวะ คือ “พระนางปารวตี” ..
ทางด้านขวาของพระศิวะ คือ “พระศักติเทวี”
รูปสลักทั้งหมดที่กล่างถึงข้างต้น .. ขนาบข้างด้วยสิงห์ทวารบาล ซึ่งทั้งหมดอาจแกะสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน คือในช่วงที่ฤๅษีนามว่า “ศิวะโสมะ” ได้มาอาศัยพักพิงเพื่อบำเพ็ญตบะ แสดงการบูชาและเป็นผู้สร้างรูปสลักนูนต่ำของเหล่าเทพเจ้าบนผาหินนี้ (มีจารึกในส่วนบนของภาพสลักทางด้านซ้ายของพระวิษณุ)
เป็นที่น่าสังเกตว่า .. ภาพสลักเทพเจ้าทั้งหมดถูกกล่าวพระนามกำกับไว้ทุกองค์ในจารึกที่ปรากฏบนเพิงหินเพิงกอมนู ที่ถูกเรียกว่า "จารึกเพิงเก้งก้าง” (Peung Keng Kang/ K.176 ) หมายถึงเพลาหรือแกนของวงล้อในภาษาเขมร เป็นชื่อนามเดิมของสถานที่แห่งนี้ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส
***จารึกอักษรเขมร-ภาษาสันสกฤต 17 บรรทัด บนผนังด้านขวาของรูปสลัก เป็นฉันทลักษณ์ 6 บท สลักขึ้นเมื่อศักราช 996 (หรือ ปี พ.ศ. 1617 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 ต่อกับยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 อันเป็นช่วงเวลาที่สอดรับกับงานศิลปะของรูปสลักบนเพิงผาได้อย่างลงตัว คือเป็นศิลปะแบบปลายบาปวน เข้าสู่ยุคศิลปะแบบพิมายและนครวัดตอนต้น
“...ท่านศิวะโสมะเป็นผู้พรสวรรค์ด้วยสติปัญญา และได้รับการเคารพนับถือจากเหล่าผู้ศรัทธา เขาและเหล่าผู้คนนั้นได้พากันมาบำเพ็ญตบะแห่งความบริสุทธิ์ บูชาไฟ บูชาพรหม บูชาคุรุ และบูชาเหล่าเทพเจ้าโดยไม่มีข้อยกเว้นว่าจะเป็นพระองค์ใด.... .. ได้สร้างรูปประติมากรรมทั้งหลายไว้ที่เพิงถ้ำแห่ง “เขามเหนทระ” (Mahendraparvata) เพื่อถวายเป็นที่สถิตของพระมเหศวรและนางปารวตี ผู้เป็นบุตรีแห่งท้าวหิมาลายา...... ได้ใส่ชื่อนามของท่านไว้ร่วมกับเหล่าเทพเจ้าในนาม "พระโสมะ" (Soma) เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักชื่อของท่าน ในความสำเร็จแห่งคุณธรรมอันแสนมหัศจรรย์ที่ไร้การเปรียบเทียบ......เหล่าเทพเจ้าและพระเทวีจะได้ทรงประทานพรสู่สวรรค์และการปลดปล่อยครั้งสุดท้ายให้แก่พระศิวะโสมะและเหล่าสาวก ผู้อาศัยบำเพ็ญเพียรอย่างถาวรอยู่ในเพิงผามเหนทระที่เปรียบประดุจสวรรค์แห่งนี้... ..พระศิวะโสมะได้สร้างรูปเคารพทั้งหลาย เพื่อถวายต่อองค์ “ปรเมศวร” (Paramesvara) “พระนางปารวตี” (Parvati) “เทวี” (Devi) พระวิษณุ (Visnu) ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อเหล่าอสูร (Asura) และ ตัวของเขาเอง พระโสมะ (โสมะ)...” ***
ภาพสลักอีก 3 กลุ่มรอบภาพสลักใหญ่ ไม่มีการกล่าวถึงในจารึก จึงเข้าใจว่าเป็นการสลักขึ้นมาภายหลังจากภาพสลักใหญ่กลุ่มแรก
กลุ่มแรกทางซ้ายมือของภาพสลักกลุ่มใหญ่ เป็นรูปกลุ่มบุคคลเหนือหัวสิงห์ทวารบาล .. เป็นภาพของพระศิวะและพระโอรสอันได้แก่ พระคเณศทรงช้าง พระศิวะทรงสิงห์ (อสูร) และขันทกุมาร ทรงนกยูง
กลุ่มภาพที่สองในกรอบรวยนาคทางซ้ายมือสุด .. เป็นภาพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะในตอนกำเนิดโลก กับภาพ “วามนาวตาร” หรือ “นารายณ์ตรีวิกรม” ตอนกำราบ "อสูรพลี-มหาพาลี” ที่มีภาพของพระแม่ภูมิเทวีกำลังรองรับพระบาท และภาพของพญาหมี "ชามพวาน" ผู้กำเนิดจากพระพรหม ช่วยเหลือพระอวตารในการก้าว 3 โลก
กลุ่มภาพที่สามอยู่ทางขวามือสุด ... เป็นภาพของบุคคล 2 กลุ่มย่อย แบ่งเป็นกลุ่ม 3 คน (ภาพใหญ่) และ 2 คน (ภาพเล็ก)
. โดยกลุ่มสามคนทางซ้ายเหนือจารึกนั้น ตรงกลางคือพระศิวะถือคทาตรีศูลในภาค “มหาฤๅษี/โยคี มีภาพพระนางปารวตีประคองก้านดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระอุระแสดงความเคารพ (สวัสดิกะมุทรา) อยู่เคียงข้าง เทพเจ้าแสดงวันทาอัญชุลี และเทพเจ้าคู่ชายหญิงถือดอกบัวเอามือทาบบนหน้าอกแสดงความเคารพ เป็นภาพมงคลหมายถึงการแสดงความเคารพแก่ท่านศิวะโสมะและเหล่าผู้สาวกศรัทธา ที่ได้มาบำเพ็ญพรต ณ มเหนทรบรรพตแห่งนี้ ตามความที่จารึกว่า “....ถวายการสวดบูชาโดยไม่มียกเว้นว่าจะเป็นเทพองค์ใด ...เหล่าเทพเจ้าและพระเทวีทั้งหลายจะทรงประทานเส้นทางสู่สวรรค์ให้แก่เขา......”
โขดหินทรายที่อยู่ใกล้เคียงกัน ยังปรากฏภาพสลักเป็นกลุ่ม ๆ ตามเพิงหินและซอกหลืบของโขดหินขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะที่ตั้งอาศรมของนักพรตคนอื่นๆ ..
มีภาพของพระวิษณุอนันตศายิน-ปัทมนาภะ (พระวิษณุผู้นอนอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช) หรือที่เรียกอีกชื่อคือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ อันเป็นชื่อเรียกกรณีกิจที่สำคัญตอนหนึ่งของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ .. แสดงถึงเรื่องราวของการสร้างโลก อันเป็นปฐมภูมิของการกำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวงตามคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
การบรรทมสินธ์ของพระนารายณ์ .. เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่โลกถูกทำลายจมอยู่ใต้น้ำ บรรดาเหล่าพระพรหมและฤาษีอยู่ในโลกเบื้องบน ได้พากันมาอ้อนวอนพระนารายณ์ให้สร้างโลกขึ้นมาใหม่ พระนารายณ์จึงเข้าโยคะนิทรา คือการทำโยคะในขณะที่กำลังนอน โดยได้บรรทมอยู่เหนือพระยานาคอนันตนาคราช กลางเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมโดยมีพระนางลักษมีหรือพระศรีประคองพระบาท
. ในที่สุดได้บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมาจากพระนาภี(สะดือ)ของพระองค์ โดยมีพระพรหมประทับนั่งอยู่บนดอกบัว เพื่อทำหน้าที่สร้างโลกและสรรพสิ่งต่างๆอีกครั้ง ภายหลังจากการสร้างโลกแล้วเสร็จ พระนารายณ์ก็จะเป็นผู้ดูแลปกป้องรักษาโลกจนครบกำหนด จากนั้นพระนารายณ์ก็จะทำลายล้างโลก เมื่อนั้นพระนารายณ์จะบรรทมสินธุ์เพื่อให้กำเนิดพระพรหมเช่นนี้ต่อไป ระยะเวลาของการสร้างโลกขึ้นมาและทำลายล้างไปเรียกว่า 1 กัลป์
ภาพสลักพระคเณศ 8 กร .. พระคเณศ เป็นเทพแห่งสติปัญญา เทพแห่งศิลปะความรู้ และความสำเร็จทั้งมวล
หากเดินไปด้านของเนินอันเป็นที่ตั้งของภาพสลักกลุ่มใหญ่ .. มีภาพพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งการแกะสลักหินสมบูรณ์เฉพาะภาพของพญาครุฑ ส่วนภาพสลักของพระนารายณ์ยังไม่เสร็จ ปรากฏเพียงเค้าโครงการร่างภาพ
พระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ
***REF : https://www.facebook.com/EJeab.Academy