12/06/2022
มารู้จักประวัติโรงแรมพระยา พาลาซโซ ที่ทาง Tir Journey จะมีกิจกรรมในวันที่ 18-19 มิถุนายน นี้กันค่ะ
"บ้านบางยี่ขัน” หรือ โรงแรมพระยาพาลาซโซ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณปี พ.ศ. 2466 เพื่อเป็นเรือนหอของพระยาชลภูมิพานิช (ไคตั๊ค อเนกวณิช) กับคุณหญิงส่วนข้าหลวงของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ตัวอาคารเป็นแบบก่ออิฐถือปูนมีหอกลาง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าห้อง “ร่มโพธิ์” สำหรับจัดงานอีเวนต์ เช่น พิธีแต่งงาน จัดประชุมและมีอาคารปีกซ้าย ปีกขวา 2 ด้าน สิ่งที่น่าสนใจของคฤหาสน์หลังนี้คืออาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรม พาลาดิโอ (Palladio) ผสมชิโน - โปรตุกีส เป็นอาคารสไตล์ฝรั่งผสมจีน มีลวดลายที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากสถาปัตยกรรมยุคนีโอคลาสสิกและโรมันยุโรป เช่น ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมในบริเวณระเบียงและห้องพัก ลายฉลุเครือเถากรอบประตูและช่องลมแบบสถาปัตยกรรมจีน
รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการบูรณะ อ่านได้ในเพจ ประวัติศาสตร์ชาติไทยและข่าวสาร ที่แชร์มาด้านล่างเลยค่ะ
"พระยาพาลาซโซ" (Praya Palazzo) จากเคหสถานแห่งความรักในวันวาน สู่โรงแรมบูติกในวันนี้
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรม ถ้าได้ล่องเรือชมบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยา จะสะดุดตากับอาคารโบราณหลังงามหลังหนึ่ง อาคารนี้เป็นของใคร...มีที่มาอย่างไร......
"อาคารพาลาดิโอ" หลังใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี คือ สถาปัตยกรรม ที่สืบทอดเรื่องราวความรักความผูกพัน มาตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5
จาก "บ้านบางยี่ขัน" สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดย "อำมาตย์เอก พระยาชลภูมิพานิช" (ต้นตระกูลอเนกวณิช) ขุนนางและคหบดีเชื้อสายจีนผู้มั่งคั่ง สมรสกับ "คุณหญิงส่วน" (สกุลเดิม อุทกภาชน์) ภายหลังสมรสแล้วก็ได้ครองคู่อยู่อาศัยอย่างมีความสุขในบ้านหลังนี้ โดยมีพยานรักเป็นบุตรธิดารวม 10 คน มาสู่ “โรงเรียนราชการุญ” ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 กระทั่งปัจจุบัน อาคารเก่าแก่ที่ทรุดโทรมดังกล่าว ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดย ผศ. วิชัย พิทักษณ์วรรัตน์ สถาปนิกผู้ชื่นชมในคุณค่าและความงามของสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ ให้กลายมาเป็นโรงแรมแบบบูติกที่พิเศษสุด เพื่อมอบเป็นรางวัลแห่งความรัก มีชื่อเรียกขานว่า พระยาพาลาซโซ
สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างจีนและตะวันตกหลังนี้ คาดว่าได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกพระราชทานชาวตะวันตก เพื่อสร้างเป็นเรือนหอให้กับผู้เป็นเจ้าของเดิม โครงสร้างทำจากไม้และอิฐโบราณ มีการตกแต่งบานประตูด้วยไม้แกะสลัก และใช้กระจกสีตกแต่งบานหน้าต่าง ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมพาลาดิโอ
หลังจากที่บ้านสไตล์พาลาดิโอหลังนี้ ถูกปล่อยทิ้งรกร้างริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าใครสัญจรผ่านไปมา ย่อมอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ รวมทั้งพื้นที่ตั้งซึ่งถูกน้ำท่วมขังอยู่เป็นครั้งคราว ทำให้การบูรณะอาคารภายใต้แนวคิดการคงลักษณะเดิมของอาคารไว้ แต่ให้อยู่ในสภาพที่ดูใหม่ขึ้น การซ่อมแซมและการหาวัสดุที่เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด ยังไม่นับรวมถึงอุปสรรคในการเดินทาง การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องใช้การขนส่งทางเรือเช่นในอดีต จึงเป็นกลายเป็นโจทย์หนักที่ ผศ.วิชัย ต้องคิดหาทางออก เพื่อให้ได้สถาปัตยกรรมในลักษณะที่ตนเองตั้งใจไว้
“ชื่อของพระยาพาลาซโซ หมายถึง คฤหาสน์แห่งพระยาชลภูมิพานิช เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้เป็นเจ้าของเดิม และยังเป็นเคหาสน์แห่งความฝันในชีวิตของอาจารย์แดง (ผศ.วิชัย พิทักษ์วรรัตน์) ด้วย อาจารย์เคยชื่นชมความงามของอาคารหลังนี้จากระยะไกลมาตลอด ตั้งแต่สมัยก่อนบูรณะจนเกิดความรู้สึกเสียดายที่อาคารหลังนี้อาจจะทรุดโทรมไปมากกว่านี้ จึงได้เริ่มโครงการฟื้นคืนชีวิตให้กับบ้านหลังนี้ขึ้น แม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งการหาวัสดุที่เหมือนเดิม การทำให้โครงสร้างเก่าแข็งแรงขึ้น และการขนส่งวัสดุ แต่พอเป็นโครงการเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ทุกคนก็หายเหนื่อยและภูมิใจกับงานครั้งนี้มาก” คุณจักรธร ประเสริฐยิ่ง กล่าวถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของ ผศ.วิชัย สถาปนิกผู้ริเริ่มโครงการพระยาพาลาซโซ อันเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมชิ้นสุดท้ายที่ ผศ.วิชัย ฝากไว้ ก่อนจะหลับไหลไปตลอดกาลในปีเดียวกัน
การจัดพื้นที่ห้องพักของพระยาพาลาซโซอาศัยหลักการสมมาตร ตามลักษณะของตัวอาคารที่ถูกออกแบบให้พื้นที่ของอาคารสองด้านที่เท่าๆ กัน ห้องพักทั้งหมด 17 ห้อง ได้รับการตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์ไทยเดิม เพื่อให้แขกได้สัมผัสกับบรรยากาศของบ้านไทยในยุคโบราณได้เต็มที่ ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปอย่างครบครัน ห้องจัดพิธีการ ซึ่งเป็นโถงกลาง บนชั้น 2 ได้รับการปรับปรุงและออกแบบฟังก์ชั่นขึ้นใหม่ เพื่อรองรับงานจัดเลี้ยงรับรองขนาดกลางหรือจัดสัมมนาผู้บริหาร สำหรับในส่วนของภูมิสถาปัตยกรรม พระยาพาลาซโซ ยังคงยึดแนวคิดเดิมที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศเหมือนบ้าน พื้นที่เล็กๆ ระหว่างตึก จึงกลายเป็นสวนสมุนไพร โดยมีต้นไม้ไทยโบราณ โดยเฉพาะไม้ดอกหอมและไม้ยืนต้น คอยให้ร่มเงาอยู่รอบๆ บริเวณอาคาร ชักชวนให้ผู้คนเข้ามาชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและรำลึกถึงเรื่องราวความรัก ความผูกพัน ที่ผ่านมาหลายยุคสมัยตราบจนถึงปัจจุบัน