Canifa

Canifa นำเสนอประเด็นการท่องเที่ยวอุทัยธานีผ่านข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติท้องถิ่น
(1)

04/04/2023

sgdfgfdgb

13/03/2023
เรื่องของ...“ปลา...ลายมงคลจีน”เนื่องในเทศกาลตรุษจีน 2566 เริ่มต้นด้วยลายมงคลจีนอย่างลาย “ปลาหลีฮื้อ” และ “ปลามังกร”จากกา...
22/01/2023

เรื่องของ...“ปลา...ลายมงคลจีน”
เนื่องในเทศกาลตรุษจีน 2566 เริ่มต้นด้วยลายมงคลจีนอย่างลาย “ปลาหลีฮื้อ” และ “ปลามังกร”

จากการที่ชาวจีนได้เดินทางเข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีมาอย่างยาวนาน และได้มีการแสดงออกถึงคติความเชื่อต่างๆ ออกมาเป็นงานศิลปกรรมมากมาย นอกจากจะพบตามศาลเจ้าจีน ยังได้เห็นอยู่ตามวัดต่างๆ อีกด้วย

ลายแรกคือ ภาพ “ปลาหลีฮื้อกระโดดผ่านประตูมังกร” เช่นที่พบด้านหน้าของโต๊ะวางเครื่องไหว้ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หรือ ศาลเจ้าพ่อปุงเถ่ากง เมืองอุทัยธานี ตรงกลางเขียนภาพปลาสีทองอยู่ภายในซุ้มประตู ด้านข้างมีภาพมังกรคู่และไข่มุกไฟ

ปลาหลีฮื้อเป็นปลาตรกูลปลาไน ปลาคราฟ ตามตำนานเล่าว่า ปลาหลีฮื้ออยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำหวงเหอพยายามกันว่ายทวนน้ำขึ้นมาที่ประตูมังกร แต่ประตูสูงชันมาก ไม่อาจว่ายข้ามไปได้ จนมีปลาหลีฮื้อสีแดงตัวใหญ่ตัวหนึ่งสามารถกระโดดผ่านประตูมังกรอันสูงชันขึ้นไปได้ ดังนั้น ชาวจีนจึงนับถือปลาหลีฮื้อเป็นสัตว์มงคล เป็นสัญลักษณ์ของความเพียรพยายาม ที่สามารถว่ายทวนน้ำ กระโดดผ่านประตูมังกร จนกลายเป็นมังกรได้

หากเป็นภาพ “ปลา” ก็เป็นภาพมงคลแทนคำอวยพร เพราะคำ 鱼 ที่แปลว่า ปลา ยังมีความหมายถึง ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีเหลือกินเหลือใช้ไม่ขาดมือ

ภาพ “ปลามังกร” เป็นอีกสัญลักษณ์มงคลหนึ่ง พบประดับบนสันหลังคาอาจมีนัยยะเช่นเดียวกับ มังกร ที่ในอดีตตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นมีการประดับมังกรไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ป้องกันไฟไหม้ เพราะมังกรเป็นสัตว์น้ำ สามารถพ่นน้ำได้ “ปลามังกร” ที่หัวเป็นมังกร ตัวเป็นปลา ก็สามารถสื่อถึงน้ำได้ จึงน่าจะมีความหมายเช่นเดียวกัน จึงทำให้มักพบมังกร ปลามังกร ไปประดับบนสันหลังคาเช่นที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อ.เมือง และการที่เป็นสัตว์มงคลทำให้มีการหยิบยืมลายจีนไปใช้ประดับตามวัดต่างๆ เช่น ปลามังกรเหนือซุ้มหน้าต่าง วัดทุ่งทอง อ.หนองฉาง

ปัจจุบัน “ปลามังกร” ยังถูกสร้างความหมายให้เป็นคำอวยพรสื่อถึงความมั่งคั่งร่ำรวย

#ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
#วัดทุ่งทอง อ.หนองฉาง
#ปลาหลีฮื้อ
#ปลามังกร

เรื่องของ...งานศิลปกรรมริมแม่น้ำสะแกกรังช่วงนี้ประเด็นที่ประสบพบกันทั่วทุกพื้นที่คือเรื่อง “น้ำท่วม” แต่มันเป็นสิ่งที่หล...
03/10/2022

เรื่องของ...งานศิลปกรรมริมแม่น้ำสะแกกรัง

ช่วงนี้ประเด็นที่ประสบพบกันทั่วทุกพื้นที่คือเรื่อง “น้ำท่วม” แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อวิถีชีวิตเลือกตั้งอยู่ริมแม่น้ำ

การออกแบบงานสถาปัตยกรรมจึงถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมา เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดและวิธีการอยู่กับธรรมชาติ

ในเมืองอุทัยธานีมีศาสนสถานหลายแหล่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง และดูเหมือนว่าจะมีการออกแบบให้เตรียมรับมือกับการที่จะท่วมล้นขึ้นมา เช่น วัดอุโปสถาราม ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อกวนอู

เราจะเห็นถึงการสร้างโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ให้ตั้งอยู่บนฐานสูงในระดับน้ำที่มักขึ้นมาในหน้าน้ำอย่างวัดอุโปสถาราม

หรือเราจะเห็นการยกห้องประดิษฐานเทพเจ้าและพื้นที่ประกอบพิธีกรรม คล้ายบ้านมีใต้ถุนสูง อย่างที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง และศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งจะแตกต่างกับศาลเจ้าจีนโดยทั่วไปที่มักตั้งติดกับพื้นดิน

จากตัวอย่างงานศิลปกรรมทั้ง 3 แห่งนี้ น่าจะเป็น 1 ในตัวอย่างของแนวคิดการออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้เข้ากับบริบทของธรรมชาติและไม่แปลกแยกขัดต่อคติความเชื่อหรือใช้งานจนยากลำบากอะไร

#วัดอุโปสถาราม
#ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
#ศาลเจ้าพ่อกวนอู

เรื่องของ...วัดอุโปสถารามเนื่องในวัน “วันแม่”ขอนำเสนอเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “แม่”จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถว...
12/08/2022

เรื่องของ...วัดอุโปสถาราม
เนื่องในวัน “วันแม่”
ขอนำเสนอเรื่องราวที่เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “แม่”
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดอุโปสถาราม เขียนขึ้นในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 25 ราวรัชกาลที่ 5 ได้เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนประสูติเอาไว้

จากภาพด้านบนมีเทวดาถือพระขรรค์ 2 องค์ (กายสีขาวและกายสีแดง) คงเป็นเทวบุตรที่คอยดูแลพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ทรงอยู่ในครรภ์มารดา

ภายหลังจากที่พระนางสิริมหามายาเข้าไปยังป่ารัง พระนางสามารถจับกิ่งรัง (ต้นสาละ) ที่โน้มหาโดยไม่ต้องเอื้อมพระหัตถ์ เพื่อให้พระนางสิริมหามายาทรงจับ หลังจากทรงจับกิ่งรังก็เกิดประชวรพระครรภ์ เหล่าข้าราชบริพารต่างช่วยกันผูกม่านล้อมต้นรังไว้

จากนั้นพระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ สายน้ำก็โปรยปรายลงมาจากท้องฟ้า 2 สาย สายหนึ่งเป็นสายน้ำเย็น สายน้ำอุ่น อากาศ สำหรับเป็นน้ำสรงของพระโพธิสัตว์และพระมารดา (ภาพทางด้านขวา)

มีท้าวสุทธาวาสมหาพรหมมารองรับพระโพธิสัตว์ (เทวดาด้านซ้ายของภาพ มีกายสีขาว ประภามณฑลสีแดง) ก่อนจะส่งต่อให้กับนักบวช (พราหมณ์)
ต่อมาพระโพธิสัตว์ก็ประทับยืนบนแผ่นดินมีดอกบัวรองรับ แล้วทอดพระเนตรดูทิศตะวันออก ก่อนทรงดำเนิน 7 ก้าว

ด้านล่างของภาพเป็นเหล่าข้าราชบริพารถูกเครื่องสูงและเป่าสังข์ ประโคมดนตรี

จากการดำเนินเรื่องในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดอุโปสถรามนี้ แตกต่างไปจากการเขียนภาพในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั่วไป (ปลายพุทธศตวรรษที่ 24) ที่มักเขียนภาพภายหลังพระโพธิสัตว์ประสูติก็จะมีพระอินทร์อัญเชิญพานทองมารองรับพระโพธิสัตว์และพระพรหมถือฉัตรกางกั้นให้

แต่เป็นการเล่าเรื่องที่พบทั้งในนิทานกถา รวมทั้งในปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ด้วย หากการดำเนินเรื่องในจิตรกรรมอาจไม่ได้เล่าตามลำดับและตรงตามคัมภีร์ทั้งหมด เช่น ฉากสรงน้ำจะต้องเป็นท้าวสุทธาวาสมหาพรหมรองรับไม่ใช่ภาพนางข้าราชบริพาร หรือฉากท้าวสุทธาวาสมหาพรหมในเรื่องจะต้องส่งต่อให้กับท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 แต่ในภาพเขียนเป็นภาพนักบวชแทน
#พุทธประวัติตอนประสูติ
#วัดอุโปสถาราม

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (3) รอยพระพุทธบาทสี่รอยลักษณะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรังมีความแตกต่างกับรอยพระพุทธบาท...
14/06/2022

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (3) รอยพระพุทธบาทสี่รอย
ลักษณะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรังมีความแตกต่างกับรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตรงที่รอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรังทำเป็นรอยพระพุทธบาทสี่รอย หมายถึงรอยของพระอดีตพุทธเจ้า 3 รอย ได้แก่ 1.พระกกุสันธพุทธเจ้า 2.พระโกนาคมนพุทธเจ้า 3.พระกัสสปพุทธเจ้า
และ 4.รอยลึกที่สุด เล็กที่สุดคือรอยของพระปัจจุบันพุทธเจ้า หรือก็คือ พระโคตมพุทธเจ้า

ส่วนรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นรอยเดียว หมายถึง รอยพระพุทธบาทของพระโคตมพุทธเจ้า เชื่อว่ารอยแห่งนี้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเคยเสด็จมาเขาสัจจพันธคีรี หรือเขาสุวรรณบรรพตของพระองค์

ความแตกต่างของรอยพระพุทธบาททั้ง 2 แห่ง คงมาจากความนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทและความเชื่อที่ต่างสมัยกัน โดยในราวพุทธศตวรรษที่ 19-23 หรือราวสมัยสุโขทัย ล้านนา อยุธยา นิยมสร้างรอยพระพุทธบาทเพียงรอยเดียว หรือทำเป็นรอยข้างขวาและซ้าย เพื่อสื่อความหมายถึงรอยพระพุทธบาทของพระโคตมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน) ซึ่งตีความได้ 2 กรณี คือ 1.เป็นรอยพระพุทธบาทที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า 2.เป็นรอยที่เป็นตัวแทนของการเสด็จไปยังที่ต่างๆ ของพระโคตมพุทธเจ้า เช่น เขาสัจจพันธคีรี เป็นต้น พอมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ได้เกิดรูปแบบการสร้างรอยพระพุทธบาทสี่รอย ที่อยู่ในลักษณะของการเหยียบซ้ำลงไปในตำแหน่งเดิม
ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรัง อาจสร้างให้สื่อถึงรอยที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเขาสัจจพันธคีรี หรือเขาสุวรรณบรรพต ปัจจุบันคือวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพราะถือเป็นรอยที่ได้รับความนิยมและเคารพบูชากันเป็นอย่างมาก รวมทั้งรูปแบบโครงสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังยังจำลองมาจากวัดพระพุทธบาทอีกด้วย

แต่จากบานประตูทั้งสี่ทิศสลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาล หรือท้าวมหาราช ผู้รักษาคุ้มครองทั้ง 4 ทิศ ประกอบด้วย 1.ท้าวกุเวรราช เทพผู้ดูแลทิศเหนือ 2.ท้าวทศรถ (ท้าวธตรฐ) เทพผู้ดูแลทิศตะวันออก 3.ท้าววิรุฬหก เทพผู้ดูแลทิศใต้ 4.ท้าววิรูปักษ์ เทพผู้ดูแลทิศตะวันตก ตามคติความเชื่อทั้งสี่องค์ประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นแรกและก่อนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา ส่วนในทางงานศิลปกรรมมักพบท้าวจตุโลกบาลเพื่อใช้สื่อว่า สิ่งที่อยู่ตรงกลางมีความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นมณฑปบนเขาสะแกกรังที่มีการประดับรูปท้าวจตุโลกบาล อาจเป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้างเขาสะแกกรังให้เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพียงแต่สร้างอาคารเลียนแบบมณฑปวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ด้วยเหตุนี้ รอยพระพุทธบาทสี่รอยบนยอดเขาสะแกกรัง อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสื่อความหมายถึงรอยที่เขาสัจจพันธคีรี แต่หมายถึงรอยพระพุทธบาทที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า 4 พระองค์

จากที่กล่าวมาข้างต้น จุดประสงค์การสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง อาจเป็นเพียงการสร้างอาคารเพื่อใช้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยนี้ โดยได้จำลองแบบมาจากวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นอาคารที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่สำคัญ ดังที่ประวัติกล่าวว่าได้สร้างมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เมื่อ พ.ศ.2447 และการประดับตกแต่งองค์มณฑปยังอาจแฝงถึงสัญลักษณ์แทนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จากการมีภาพท้าวจตุโลกบาลบนบานประตูก็เป็นได้
#รอยพระพุทธบาทสี่รอย
#เขาสะแกกรัง
#วัดสังกัสรัตนคีรี
#มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง
#มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
#ท้าวจตุโลกบาล

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (2) ความหมายที่แฝงอยู่ในระยะแรกของการสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง คงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐา...
03/06/2022

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (2) ความหมายที่แฝงอยู่
ในระยะแรกของการสร้างมณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง คงสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ตามความศรัทธาของผู้คนในสมัยนั้นที่นิยมเดินทางไปแสวงบุญรอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพราะแม้แต่ลักษณะอาคารเองก็สร้างเลียนแบบจากมณฑปที่วัดพระพุทธบาทมา

ด้วยความศรัทธานี้เอง นำมาสู่การสร้างงานศิลปกรรมที่ระลึกถึงรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ตามสถานที่ต่างๆ มากมาย แม้แต่เมืองอุทัยธานีก็ยังมีการพบจิตรกรรมฝาผนังจำลองภาพวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี บนผนังด้านนอก วิหาร วัดอุโปสถารามด้วย
ความเชื่อในเรื่องรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีนี้ คงเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาและความศรัทธายังคงมีอยู่สืบมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกตำนานการพบรอยพระพุทธบาทเอาไว้ว่า สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงแต่งสมณทูตเดินทางไปลังกาเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกาทราบเข้าก็ถามว่ารอยพระพุทธบาทในแผ่นดินนี้ปรากฏอยู่ถึง 5 รอย หนึ่งในนั้นคือรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต ซึ่งก็คือรอยที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นี้เอง

ดังนั้น หากสันนิษฐานจากความนิยมศรัทธารอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ดูเหมือนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 แล้ว มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรังก็อาจจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่จำลอง “รอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณบรรพต” ก็เป็นได้

ภายหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา วัดสังกัสรัตนคีรีถูกใช้เป็นสถานที่ในการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโว ในช่วงออกพรรษา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอครบกำหนดออกพรรษา พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาที่เมืองสังกัสสนคร ทำให้มีการเรียกชื่อมณฑปแห่งนี้อีกชื่อว่า “มณฑปสิริมหามายากุฎาคาร” สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดา ชื่อดังกล่าวนี้คงตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีตักบาตรเทโวและชื่อของวัด เนื่องจากในคติความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ไม่มีการกล่าวถึงว่าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเลย

จากข้อมูลดังกล่าวอาจสันนิษฐานถึงคติการสร้างและการใช้งานมณฑปแห่งนี้ได้ 2 ความหมายคือ

1.หมายถึง “มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต” (วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี) คงเป็นคติการสร้างแต่เดิม เนื่องจากประวัติวัดสังกัสรัตนคีรี กล่าวเพียงว่า เดิมมีชื่อว่า “วัดเขาสะแกกรัง” เท่านั้น และตัวอาคารได้สร้างเลียนแบบจากมณฑปที่วัดพระพุทธบาท

2.หมายถึง “มณฑปสิริมหามายากุฎาคาร” โดยตั้งชื่อให้สอดคล้องประเพณีตักบาตรเทโว

#วัดสังกัสรัตนคีรี
#เขาสะแกกรัง
#มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง
#มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (1)ตามประวัติ ท่านเจ้าพระคุณสุนทรมุนี (ใจ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีและเจ้าอาวาสวัดทุ่งแก...
02/06/2022

เรื่องของ...มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง (1)
ตามประวัติ ท่านเจ้าพระคุณสุนทรมุนี (ใจ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานีและเจ้าอาวาสวัดทุ่งแก้ว และขุนกอบกัยกิจ (ตั้งอุยสุ่น) กับราษฎรชาวอุทัยธานีได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง โดยแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2447

มีความเชื่อที่กล่าวถึงการสร้างมณฑปองค์นี้ว่า ชาวสะแกกรังเชื่อว่าเขาสะแกกรังเป็นมังกรนอนอยู่ ดังนั้นควรจะสร้างพุทธสถานไว้ตรงหัวไม่ให้มังกรพ่นไฟ โดยแต่เดิมพบเศษซากโบราณสถานตรงทางระหว่างมณฑปและศาลเจ้า น่าจะเคยเป็นวัดร้างมาก่อน ท่านเจ้าพระคุณสุนทรมุนี (ใจ) จึงได้สร้างมณฑปขึ้นใหม่ในตำแหน่งปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2478 เกิดไฟไหม้ป่าบริเวณยอดเขาและลุกลามไหม้เครื่องบนของมณฑปพระพุทธบาทด้วย เลยมีการพูดกันว่า "มังกรพ่นไฟ"

จนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2497 พระสุนทรมุนี (พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี กับนายพล วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิสังขรณ์มณฑป โดย พณฯ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบเงิน 250,000 บาท สำหรับงานนี้ด้วย มณฑปองค์ใหม่เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2497 แต่ยังขาดเงินทุนในการก่อสร้าง จึงต้องระงับการก่อสร้างไว้ระยะหนึ่ง แต่ก็มาสำเร็จในปี พ.ศ.2511

ที่มาข้อมูล :
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุทัยธานี
จากหนังสือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์
#วัดสังกัสรัตนคีรี
#เขาสะแกกรัง
#มณฑปบนยอดเขาสะแกกรัง
#มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

เรื่องของ...ย่าน “วัดท่าซุง” "วัดยาง"จากการสำรวจลงพื้นที่บริเวณวัดท่าซุงของคณะเด็กวัดท่าซุง (เป็นความร่วมมือของชาวบ้าน เ...
12/03/2022

เรื่องของ...ย่าน “วัดท่าซุง” "วัดยาง"

จากการสำรวจลงพื้นที่บริเวณวัดท่าซุงของคณะเด็กวัดท่าซุง (เป็นความร่วมมือของชาวบ้าน เด็กนักเรียน คุณครูและพระสงฆ์) ร่วมกันหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์บนพื้นที่ละแวกนี้ ภายใต้หลักฐานจากบันทึกของสังฆราชปาลเลกัวซ์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในสยาม ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยรัชกาลที่ 3 ความว่า

“ขึ้นไปเหนือชัยนาท 15 ลี้ จะถึงท่าซุงอันเป็นเมืองคนจีนล้วนๆ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำซึ่งไหลมาจากทางทิศตะวันตก พวกจีนได้ตั้งโรงต้มกลั่นสุราขึ้นอีกแห่งหนึ่ง กับมีเตาหล่อราว 12 เตา สำหรับหล่อเหล็กซึ่งมีอยู่เป็นอันมากในแถวแถบนั้น เหล็กหลอมที่ได้จากเตาเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะพอใช้ในราชอาณาจักรเท่านั้น ยังเหลือส่งเป็นสินค้าออกอันสำคัญได้อีกด้วย”

และ

“ข้าพเจ้าได้เห็นเหล็กที่ท่าซุง ซึ่งคนจีนทำอยู่และได้ผลเป็นอันมาก ได้คาร์บอเนทของเหล็กเป็นก้อนๆ ทีเดียว ในอาณาบริเวณที่ราบอันกว้างใหญ่ คนไทยเอาเรือไปบรรทุก แล้วนำเอาไปขายด้วยราคาถูกๆ ให้แก่โรงถลุงเหล็กของคนจีน ซึ่งทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน มีคนงานตั้ง 500 ถึง 600 คน หล่อเป็นแท่งหนาๆ ส่งเข้ามาบางกอกทุกวัน...”

เพียงแค่ข้อความไม่กี่ประโยคนี้เอง ที่คณะเด็กวัดท่าซุงนำไปสืบค้นจนนำมาสู่การพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะของเมืองอุทัยธานีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาตร์ที่สำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรังเป็นแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่เพื่อส่งมายังบางกอก และปัจจุบันการศึกษาเรื่องแหล่งถลุงแร่เหล็กในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังมีอยู่น้อยมาก

หลักฐานที่พบมีทั้งเศษตะกรันเหล็ก ก้อนแร่แมกนีไทต์ เศษตะกรันซิลิกา เศษภาชนะลายครามที่เป็นเครื่องถ้วยจีน เหรียญเงินและเบี้ยชนิดต่างๆ ทั้งของสยามและของจีน

แต่ปัจจุบันหน่วยงานราชการของท้องที่กลับเป็นผู้ลงมือทำลายหลักฐานทางประวัติศาตร์ที่สำคัญเอง จากการสร้างเขื่อนคอนกรีตกันตลิ่ง โดยยังไม่ได้มีการให้หน่วนยงานใดลงไปศึกษาพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ก่อน

ที่มาข้อมูล :
โครงการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้านท่าซุง โดยคณะเด็กวัดท่าซุง จาก หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”
สังฆราช ปาลเลกัวซ์. เล่าเรื่องเมืองไทย, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร : ก้าวหน้า, 2506.

#วัดท่าซุง
#วัดยาง
#โรงถลุงเหล็ก
#สังฆราชปาลเลกัวซ์

เรื่อง...งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี 2564งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ จะมีการอัญเชิญองค์เทพจากศาลต่างๆ ภายใ...
01/02/2022

เรื่อง...งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี 2564
งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ จะมีการอัญเชิญองค์เทพจากศาลต่างๆ ภายในเมืองอุทัยธานีมาประดิษฐานรวมกันที่ปะรำพิธีชั่วคราว โดยจะเห็นว่ามีการเรียงกระถางธูปและองค์เทพไว้
ในส่วนของการเรียงกระถางธูป จะเรียงตามลำดับความสำคัญ เริ่มจากตำแหน่งตรงกลางสำคัญที่สุดและเรียงไปทางขวาตามด้วยซ้าย (ขององค์เทพ) และกลับมาที่ด้านขวาและซ้ายอีกครั้ง ดังนั้น ลำดับขององค์เทพเจ้า คือ
1.เจ้าพ่อกวนอู
2.เจ้าแม่ทับทิม
3.เจ้าพ่อหลักเมือง (ปุงเถ่ากง)
4.เจ้าแม่ละอองสำลี (ปุงเถ่าม่า)
5.เม่งเต๋าโจวซือ

ในส่วนการเรียงองค์เทพเจ้า จะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมือนกับกระถางธูปและไม่ใช่องค์เดียวกับชื่อบนกระถางทั้งหมด แต่คงเรียงตามลำดับความสำคัญเช่นเดียวกัน คือ
1.เจ้าพ่อกวนอู (องค์กลาง)
2.เจ้าแม่ทับทิม องค์พี่และองค์น้อง (ทางด้านซ้ายของเจ้าพ่อกวนอู)
3.เจ้าพ่อหลักเมือง (ทางด้านขวาของเจ้าพ่อกวนอู)
4.เจ้าแม่ละอองสำลี (ทางด้านขวาของเจ้าพ่อหลักเมือง)

#งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี2564

เรื่อง...งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี 2564งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี เป็นประเพณีเก่าแก่ โดยจ...
22/01/2022

เรื่อง...งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี 2564
งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี เป็นประเพณีเก่าแก่ โดยจะจัด 3 ปี ครั้ง ถือเป็นงานสำคัญที่สุดงานหนึ่งของกลุ่มชาวจีนในเมืองอุทัยธานี เพราะเกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งจากชาวจีนแต้จิ๋ว ไหหลำ แคะ และฮกเกี้ยน

ในเมืองอุทัยธานีโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตลาด (จากวัดโรงโคไปจนถึงสะพานยาว) เป็นพื้นที่ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เห็นได้จากการตั้งศาลเจ้าถึง 4 แห่ง ในพื้นที่แถบนี้ คือ ศาลเจ้าปุงเถ่ากง (ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) ศาลเจ้าแม่ทับทิม (เป็นศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ) ศาลเจ้ากวนอู และศาลเจ้าแม่ละอองสำลี

ศูนย์กลางการจัดงานจะอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง โดยจะอัญเชิญเทพเจ้าจากศาลต่างๆ มาประดิษฐานที่ปะรำพิธีชั่วคราวจนกว่างานจะดำเนินการเสร็จ จึงจะอัญเชิญแห่กลับศาล

สำหรับขบวนแห่เจ้าปี 2564 นี้ ประกอบด้วยหลายส่วน ส่วนใหญ่เป็นขบวนที่ชาวอุทัยธานีจัดเตรียมและซักซ้อมกันเอง เช่น ขบวนรถเจ้าแม่กวนอิม ขบวนสิงโตไหหลำ (เสือไหหลำ) ขบวนสิงโตแคะ ขบวนล่อโก๊ว ขบวนอัญเชิญเจ้าและกระถางธูป เป็นต้น ในปีนี้ขบวนแห่เจ้าเพิ่มการเดินขบวนในยามค่ำคืนและเพิ่มเรื่องแสงสีเสียง สร้างความแปลกตาและแตกต่างไปจากงานแห่เจ้าที่ผ่านมา

นอกจากขบวนแห่แล้ว ชาวจีนในเมืองอุทัยธานีบางบ้านได้ตั้งโต๊ะหมู่เพื่อรับเสด็จเทพเจ้าที่จะแห่ผ่าน เพื่อความเป็นศิริมงคล โดยความโดดเด่นของโต๊ะหมู่เมืองอุทัยธานีจะมีการนำงาช้างเก่าแก่มาเป็นเครื่องประดับด้วย

งานที่เกิดขึ้นนี้ได้รับความร่วมมือจากคนในจังหวัดอุทัยธานีทุกเพศทุกวัย โดยจะเห็นได้ว่ามีคนรุ่นอาวุโสเดินขบวนไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก สิ่งนี้เองสะท้อนให้เห็นถึงการสืบต่อความเชื่อที่ยังคงสามารถดำเนินต่อไปในอนาคตได้

#งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี2564

เรื่องของ...พระพุทธชัยสิทธิ์“พระพุทธชัยสิทธิ์” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองอุทัยธานีที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานภายในวิหา...
20/01/2022

เรื่องของ...พระพุทธชัยสิทธิ์
“พระพุทธชัยสิทธิ์” พระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองอุทัยธานีที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานภายในวิหาร วัดพิชัยปุรณาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระพักตร์รูปไข่แต่ไม่ยาวมาก พระขนง(คิ้ว)โก่ง ระหว่างเส้นพระขนงและเปลือกพระเนตรป้ายเป็นแผ่น พระนาสิก(จมูก)เป็นสัน ปลายพระนาสิกงุ้ม ทรงแย้มพระโอษฐ์ ขมวดพระเกศาเล็กมากที่เรียกกันว่าอย่างหนามขนุน ไม่มีไรพระศก พระรัศมีเป็นเปลว ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ ยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวไม่เท่ากัน

จากพุทธลักษณะดังกล่าวสามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 จุดสังเกตสำคัญ คือ
ชายสังฆาฏิที่ซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นบนปลายคล้ายลอนคลื่น 2 วง ส่วนชั้นล่างแยกเป็น 2 ชาย แบบเขี้ยวตะขาบที่ซ้อนทับลดหลั่นกัน แทนการสลักแบบลายผ้าที่พับทบกัน ขอบด้านล่างสุดทำเป็นขอบตัดตรง สามารถเทียบเคียงได้กับชายสังฆาฏิของพระพุทธรูปหินทรายแดงในศิลปะอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 แต่จากลักษณะพระพักตร์ที่เกือบเป็นรูปไข่ พระโอษฐ์เล็ก ปีกพระนาสิกยกขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในศิลปะอยุธยา ราวพุทธตวรรษที่ 21-22 ดังนั้น พระพุทธชัยสิทธิ์ จึงอาจจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ก็เป็นได้

นอกจากนี้ มีลักษณะบางประการน่าจะที่เป็นงานท้องถิ่น หรือไม่แล้วก็เป็นการบูรณะซ่อมแซมในสมัยหลัง ดังเช่น เปลวพระรัศมีที่มีลักษณะเป็นการซ้อนกรอบรูปใบโพธิ์ จำนวน 4 ชั้น พระเนตรเหลือบต่ำโดยที่หางพระเนตรไม่ชี้ขึ้น ริมพระโอษฐ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเป็นพิเศษ

การพบ “พระพุทธชัยสิทธิ์” ที่มีความเก่าแก่ไปถึงสมัยอยุธยา หากเป็นพระพุทธรูปดั้งเดิมบริเวณแถบนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณเมืองอุทัยธานีน่าจะมีการเข้ามาอยู่อาศัยแล้วอย่างน้อย ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

#วัดพิชัยปุรณาราม
#พระพุทธชัยสิทธิ์

เรื่องของ...วัดพิชัยปุรณารามภายในอุโบสถวัดพิชัยปุรณาราม มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นบ้าน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในช่วงกลางพุทธศ...
03/12/2021

เรื่องของ...วัดพิชัยปุรณาราม
ภายในอุโบสถวัดพิชัยปุรณาราม มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบพื้นบ้าน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ตรงกับการบูรณะวัดในสมัยพระยาพิชัยสุนทรเป็นเจ้าเมืองอุทัยธานี

ในครั้งนี้อยากให้รู้จักภาพนิทานพื้นบ้านอย่างเรื่องจันทโครบ โดยสังเกตจากเหนือภาพชายและหญิงคู่หนึ่งมีตัวอักษรเขียนว่า “เปิฎพะอํบ”

ภาพจันทโครบอยู่บนผนังแปรฝั่งทิศใต้ เท่าที่พอดูออก ได้เลือกเขียนตอนพระฤาษีมอบผอบให้จันทโครบภายหลังจากร่ำเรียนวิชาจนจบแล้ว และตอนจันทโครบเปิดผอบในป่าพบนางโมรา ต่อด้วยตอนจันทโครบพานางโมรากลับเมือง ระหว่างทางนั้นจันทโครบต้องอุ้มนางโมราด้วย

การเขียนเรื่องจันทโครบที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นนิทานพื้นบ้านภายในอุโบสถ อาจจะดูไม่เข้ากันเท่าไรนัก หากแต่ถ้าดูต้นเค้าของเรื่องราวแล้วพบว่า จันทโครบเป็นการนำเค้าโครงเรื่องมาจากจุลธนุคคหชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ 374 ในนิบาตชาดก (ปรากฏในอรรถกถา) มีเนื้อเรื่องย่อว่า พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเปนพระอินทร์ จำแลงเป็นสุนัขจิ้งจอกได้มาแสดงธรรมแก่หญิงผู้เป็นภรรยาของจุลธนุคคหยัณฑิต ภายหลังจากที่ช่วยโจรฆ่าสามีของตนตาย และโจรได้ของมีค่าต่างๆ จากหญิงนั้นไปแล้ว จึงทิ้งนางไป

ดังนั้น จันทโครบในที่นี้จึงเป็นได้ทั้งนิทานพื้นบ้านและเรื่องราวในนิบาตชาดกซึ่งเป็นเรื่องที่มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หากกล่าวถึงการเขียนงานจิตรกรรมเรื่องนิบาตชาดกภายในอุโบสถนั้น ปรากฏหลักฐานชัดเจนตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระอุโบสถวัดสุทัศน์ พระอุโบสถวัดเครือวัลย์ เป็นต้น

ความสำคัญของภาพจันทโครบที่วัดพิชัยปุรณารามนี้ อาจมีเพียงแห่งเดียวก็ได้ และจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ในอดีตพบว่า ภาพได้รับความเสียหายไปอย่างมากภายหลังจากน้ำท่วมเมืองอุทัยธานีครั้งใหญ่ใน ปี พ.ศ.2554

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่องจันทโครบ โดย กรมศิลปากร

#วัดพิชัยปุรณาราม
#จันทโครบ

เรื่องของ...วัดอุโปสถารามเนื่องในวันปิยมหาราช ข้อกล่าวถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติตอนห้ามพระแก่นจันทน์ภายในวิห...
23/10/2021

เรื่องของ...วัดอุโปสถาราม

เนื่องในวันปิยมหาราช ข้อกล่าวถึงภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติตอนห้ามพระแก่นจันทน์ภายในวิหารวัดอุโปสถาราม มาเขียนบนผนังด้านหลังพระประธานแบบเต็มพื้นที่ ซึ่งถือเป็นความพิเศษที่แตกต่างไปจากวัดอื่น เพราะน่าจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

สาเหตุของการเลือกพุทธประวัติตอนห้ามพระแก่นจันทน์มาเขียนนี้ ยังคงเป็นข้อสงสัยอยู่ เพราะดูเหมือนว่าจะไม่นิยมนำมาเขียนเป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ โดยอาจส่งผลต่อการเลือกก็เป็นได้ นั่นคือ พระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของรัชกาลที่ 5

ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะเสด็จพระราชสมภพวันอังคาร ซึ่งพระพุทธรูปประจำวันเป็นปางไสยาสน์ แต่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารแทน

อาจจะด้วยเหตุที่ไม่เคยมีการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารอุทิศถวายให้กับบูรพกษัตริย์มาก่อน

อีกทั้งในพระราชพิธีสิบสองเดือน พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ถึงการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารกลุ่มนี้ว่า ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปนั่งและยืนเท่านั้น หากตั้งอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็คงจะต้องเรียงเป็นแถวๆ พระเจ้าแผ่นดินแรกๆ คงต้องอยู่แถวหน้า พระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ ก็ต้องอยู่แถวหลัง ถ้าจะใช้พระนั่งไว้แถวหลังพระยืนอยู่แถวหน้า ก็คงบังแถวหลัง จึงรับสั่งว่าชั้นแรกๆ ให้เป็นพระนั่ง ชั้นหลังๆ ให้เป็นพระยืน เมื่อตั้งในหมู่เดียวกันจะได้แลเห็นตลอดไม่บังกัน

จากพระราชนิพนธ์ดังกล่าวทำให้มองได้ว่าพระองค์สนพระทัยในเรื่องการจัดวางพระพุทธรูปที่เหมาะสมและสวยงามมากกว่า จึงทรงเลือกพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนและไม่ซ้ำกับปางที่เคยมีการสร้างถวายมาก่อนแทนปางไสยาสน์

ด้วยอายุงานจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร วัดอุโปสถาราม สามารถกำหนดอายุราวรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา หรือราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดอุโปสถารามมาก่อนด้วย โดยในสมัยนั้นชาวอุทัยได้ทำแพช่อฟ้าจอดไว้ถวายที่หน้าวัด แล้วเชิญพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน 2 องค์ เพื่อพระราชทานถวาย และอาจจะร่วมถึงการเขียนภาพพุทธประวัติตอนห้ามพระแก่นจันทน์ภายในวิหารนี้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการกล่าวถึง หรือไม่เช่นนั้นแล้วก็คงอาจเขียนขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ก็เป็นได้

ข้อมูลการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์แทนปางไสยาสน์ในรัชกาลที่ 5 จาก พิชิต อังคศุภรกุล, งานพุทธศิลป์ในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

#พุทธประวัติตอนห้ามพระแก่นจันทน์
#วัดอุโปสถาราม

เรื่องของ...พระพุทธเจ้า 3 องค์ (ตรีกาย)กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18ศิลปะเขมรในประเทศไทยพบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมือง จังหว...
21/10/2021

เรื่องของ...พระพุทธเจ้า 3 องค์ (ตรีกาย)

กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18
ศิลปะเขมรในประเทศไทย
พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
ปัจจุบันได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร” ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใครมีโอกาสก็ลองแวะมาเยี่ยมชมกัน

จากลักษณะการทำพระพุทธเจ้า 3 องค์ ประทับนั่งเรียงต่อกัน เชื่อว่าสื่อถึงคติเรื่อง “ตรีกาย” หรือ กายทั้ง 3 อย่าง ของพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อแบบพุทธศาสนานิกายมหายาน ประกอบด้วย นิรมาณกาย (กายเนื้อที่ปรากฏเป็นรูปร่างของพระพุทธเจ้า) ธรรมกาย (พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า) สัมโภคกาย (กายทิพย์ของพระพุทธเจ้า)

รูปแบบที่ปรากฏทำเป็นพระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัย นั่งเรียงกัน 3 องค์ บนฐานบัว พระพุทธรูปแต่ละองค์ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรพาดลงมาที่พระอังสาเลยพระถัน ปลายตัดตรง ด้านหลังของแต่ละองค์ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วด้านบนประดับด้วยปรกโพธิ์ โดยการครองจีวรและแผ่นหลังเช่นนี้เป็นที่นิยมในศิลปะเขมร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

เหนือพระเศียรมีกระบังหน้าประดับแผ่นตาบสามเหลี่ยม การเรียงกันของแผ่นตาบหน้าคล้ายกับใบระกาที่ประดับกรอบซุ้มหน้าบันของปราสาทเขมร โดยจะมีตาบตรงกลางขนาดใหญ่และตาบที่อยู่ขนาบข้างโค้งเข้าหาตาบตรงกลาง อีกทั้งปลายกรอบด้านข้างของกระบังหน้ายังทำเป็นกระหนกม้วนคล้ายกับปลายกรอบหน้าบันอีกด้วย ลักษณะศิราภรณ์เช่นนี้เชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากตาบสามเหลี่ยมที่ประดับบนเทริดขนนกในศิลปะปาละของอินเดีย และช่างเขมรก็มาปรับเปลี่ยนจนเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า พระพุทธรูปแต่ละองค์ทรงกุณฑลไม่เหมือนกัน โดยพระพุทธรูปองค์ทางด้านซ้ายทรงกุณฑลรูปดอกไม้กลม องค์ทางด้านขวาทรงกุณฑลที่ปลายงอนขึ้น ส่วนองค์กลางไม่ได้ทรงกุณฑลแต่น่าจะมีการประดับกรรเจียกยาวลงมาถึงพระอังสาแทน จากลักษณะดังกล่าวสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากศิลปะปาละของอินเดีย

และจากความหลากหลายของกุณฑลนี้ ถึงแม้จะเป็นเพียงจุดเล็กน้อยก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของช่างที่พยายามสร้างความแตกต่างให้กับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้เป็นอย่างดี

การพบประติมากรรมชิ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คนในเขตพื้นที่ จ.อุทัยธานี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมร โดยพื้นที่ดอนขวางอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของเขาสะแกกรัง และละแวกข้างเคียงก็มีแหล่งโบราณคดีอย่างบ้านหลุมเข้า หรือแหล่งโบราณคดีในพื้นที่พยุหคีรี ท่าตะโก ในเขต จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยทวารวดีและเขมร จึงไม่แปลกอะไรที่บริเวณดอนขวางจะมีการอยู่อาศัยกระทั่งรับวัฒนธรรมเขมร หากแต่การพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังมีจำนวนน้อยมากทำให้ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า ประติมากรรมชิ้นดังกล่าวเป็นของเคลื่อนย้ายมาจากแหล่งอื่น หรือเป็นของคนในพื้นที่ดอนขวางตั้งแต่ยุครับวัฒนธรรมเขมรเองกันแน่

#ตรีกาย
#ดอนขวาง

เรื่องของ...วัดอุโปสถารามในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้อยากนำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตริมน้ำในภาพจิตรกรรมผนังด้านหน้าของวิ...
11/10/2021

เรื่องของ...วัดอุโปสถาราม

ในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้อยากนำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตริมน้ำในภาพจิตรกรรม

ผนังด้านหน้าของวิหาร วัดอุโปสถาราม มีภาพจิตรกรรมเขียนเกี่ยวกับภาพจำลองบรรยายวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยที่อาจมีการสอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบริเวณริมแม่น้ำสะแกกรังลงไปด้วย

ที่มุมด้านล่างข้างประตู ได้เขียนถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ มีทั้งภาพการพาควาย เลี้ยงช้าง ที่ริมตลิ่ง การจราจรขนส่งที่ใช้ทั้งช้างและเกวียนประทุนมาเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างทางบกกับทางน้ำ ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้พื้นที่บริเวณสะพานข้ามไปวัดอุโปสถารามว่าแต่ก่อนนั้นมีท่าใช้สำหรับลำเลียงช้าง ที่เรียกว่า “ท่าช้าง”

ส่วนการสัญจรทางน้ำจะเห็นว่ามีเรือจอดอยู่มากมาย หลากหลายประเภท ส่วนใหญ่จะเป็นเรือสำปั้นทั้งแบบที่ไม่มีหลังคาและมีหลังคา นอกจากนี้ยังมีภาพเรือยนต์หรือเรือแท็กซี่ลากจูงที่ใช้ได้ทั้งขนส่งคนและขนส่งสินค้า นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดอายุงานจิตรกรรมว่าอยู่ในช่วงพุทธศคตวรรษที่ 25 เป็นต้นไปแล้ว ยังบ่งบอกถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาในยุคสมัยนั้นด้วย

การเดินทางทางน้ำ จึงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ถือเป็นทางหลักในการติดต่อคมนาคม เนื่องจากบ้านสะแกกรังตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง โดยแม่น้ำเส้นนี้ได้ไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เรือจึงกลายเป็นพาหนะที่สำคัญในการเดินทางจนบางครั้งก็เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง ดังที่ปรากฏภาพบุคคลอาศัยอยู่บนเรือ บางคนก็กำลังทำกับข้าว บางคนก็นอนเล่นบนเรือ

#วัดอุโปสถาราม

เรื่องของ...วัดอุโปสถารามเนื่องในวัน “อาสาฬหบูชา”ซึ่งในพุทธประวัติถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคี...
24/07/2021

เรื่องของ...วัดอุโปสถาราม

เนื่องในวัน “อาสาฬหบูชา”
ซึ่งในพุทธประวัติถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์
จึงขอยกงานจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติ ภายในอุโบสถ วัดอุโปสถาราม มาให้ชมกัน

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปหาปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึง เป็นช่วงเวลาเช้า ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์กำลังชวนกันอาบน้ำชำระกาย แต่เมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ก็ประชุมพร้อมกันว่าจะทำเป็นไม่สนใจ และไม่เข้าไปต้อนรับ

ต่อมาเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ยอมเข้ามาสักการะ

สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าหวังให้ปัญจวัคคีย์บรรลุเข้าสู่นิพพาน จึงได้ตรัสเทศนาพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในกาลนั้นพระปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง 5 ก็มีจิตชื่นชมโสมนัส และมีเหล่าเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาฬได้มาสันนิบาตมากมาย

#วัดอุโปสถาราม

เรื่องของ...วัดใหม่จันทรารามภาพพระสาวกที่อยู่ในอาการก้มตัวลงกราบนี้ อยู่ใกล้กับพระบาทของพระพุทธรูปพระประธานปางปรินิพพาน ...
24/05/2021

เรื่องของ...วัดใหม่จันทราราม

ภาพพระสาวกที่อยู่ในอาการก้มตัวลงกราบนี้ อยู่ใกล้กับพระบาทของพระพุทธรูปพระประธานปางปรินิพพาน ภายในอุโบสถ มักมองกันว่าเป็นภาพ “พระมหากัสสปะ” มาสักการะพระบรมศพพระพุทธเจ้า แต่จะใช่หรือไม่นั้นคงต้องนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวในคัมภีร์และองค์ประกอบภาพที่อยู่บนผนัง

ข้อสันนิษฐานแรก น่าจะเป็นภาพ “พระมหากัสสปะ” เนื่องจากถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งในเหตุการณ์ช่วงนี้ แต่ด้วยเมื่อเทียบกับงานศิลปกรรมจากแหล่งอื่น พระมหากัสสปะมักจะปรากฏในเหตุการณ์หลังจากนี้ คือ ตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เมื่อมาสังเกตดูงานจิตรกรรมภายในก็ไม่ได้มีสิ่งที่สื่อถึงภาพพระเมรุของพระพุทธเจ้า มีเพียงภาพกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำที่อยู่ด้านหน้าภาพพระสาวก ซึ่งภาพกรอบสี่เหลี่ยมสีดำอาจมองได้ว่าเป็นโล่งพระศพ แต่ก็ไม่มีภาพพระบาทพระพุทธเจ้าโผล่ออกมา จึงไม่แน่ใจว่าที่หายไปเพราะชำรุดเสียหายจนลบเลือนหรือไม่มีอยู่แล้ว

ข้อสันนิษฐานที่ 2 อาจจะเป็นภาพ “พระอานนท์” หากยึดตามองค์ประกอบภาพภายในอาคารที่สื่อถึงเหตุการณ์พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน โดยไม่ได้ดำเนินเรื่องไปถึงตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระอานนท์ก็ถือเป็นพระสาวกองค์สำคัญที่อยู่ใกล้ชิดคอยดูแลปรนนิบัติพระพุทธเจ้า จนถึงช่วงที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน

ข้อสันนิษฐานที่ 3 อาจจะเป็นภาพ “สุภัททปริพพาชก” พระสาวกองค์สำคัญที่ถูกกล่าวถึงมากในเหตุการณ์ตอนปรินิพพาน เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาปรินิพพานที่เมืองกุสินาราย เพราะพระองค์ต้องมาโปรดสุภัททปริพพาชกที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ เพื่อเทศนามหาสุทัสนสูตร อีกทั้งในเหตุการณ์พระพุทธองค์ยังได้เรียกให้สุภัททปริพพาชกเข้าไปหาใกล้ๆ ภายหลังจากได้ฟังเทศนา สุภัททปริพพาชกก็บรรลุอรหันต์ และยังถือเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วย แต่เมื่อเทียบกับงานจิตรกรรมจากแหล่งอื่นๆ ภาพของสุภัททปริพพาชกมักเขียนเป็นภาพชายนุ่งขาวห่มขาวคล้ายพราหมณ์ ไม่ใช่ว่าเขียนเป็นพระสงฆ์

จากข้อสันนิษฐานทั้ง 3 นี้ อาจเป็นภาพ “พระมหากัสสปะ” มากที่สุด เพราะมองได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องต่อเนื่องจนมาถึงเหตุการณ์ตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ เนื่องจากผนังสกัดหน้าก็มีภาพอาชีวกถือดอกมณฑารพ และภาพกรอบสี่เหลี่ยมสีดำก็อาจจะเป็นโลงพระศพ แต่ภาพพระบาทลบเลือนหายไปแล้วก็เป็นได้

หรือจะเป็น “สุภัททปริพพาชก” หรือ “พระอานนท์” เพราะเป็นบุคคลสำคัญในเหตุการณ์ปรินิพพาน สอดคล้องกับภาพต้นสาละคู่ที่อยู่ใกล้กัน จึงอาจจะเป็นภาพที่แสดงถึงสถานที่ตอนปรินิพพานอยู่

และถ้าเป็น “สุภัททปริพพาชก” จริง ก็ถือว่ามีความพิเศษ เนื่องจากเท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบที่เขียนในรูปแบบพระสงฆ์เลย

#วัดใหม่จันทราราม
#วัดใหม่

เรื่องของ...วัดใหม่จันทรารามการสร้างเรื่องราวประกอบให้กับพระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถวัดใหม่จันทราราม ซึ่งองค์พระนั้นกำหน...
13/05/2021

เรื่องของ...วัดใหม่จันทราราม
การสร้างเรื่องราวประกอบให้กับพระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถวัดใหม่จันทราราม ซึ่งองค์พระนั้นกำหนดอายุในราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ตัวอาคารและงานจิตรกรรมฝาผนังเป็นงานบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ 25 (ทำให้ส่วนปลายพระรัศมีชนกับผนังพอดี)

แต่เดิมนั้นไม่อาจทราบได้ว่าพระพุทธรูปประธานองค์นี้แสดงปางใดระหว่างปางไสยาสน์ กับ ปางปรินิพพาน เพราะการแสดงออกทั้งสองปางเฉพาะองค์พระมีความคล้ายคลึงมาก แต่เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดจึงได้มีการเขียนงานจิตรกรรมฝาผนังตกแต่งภายในอาคาร โดยเขียนเป็นเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ทำให้หลังจากนั้นมา องค์พระพุทธรูปประธานจึงกลายเป็นปางปรินิพพานเพราะด้วยงานประดับตกแต่งนี้เอง

จากการเขียนภาพต้นสาละคู่อยู่ที่มุมผนังทั้งสองข้างและมีดอกมณฑารพกำลังร่วงหล่นลงมา ตรงตามบรรยากาศและสถานที่ที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ แต่เพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ขึ้นจึงมีการเขียนเหตุการณ์ภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานคือ พระมหากัสสปะพบอาชีวกถือดอกมณฑารพ ต่อด้วยพระมหากัสสปะมาสักการะพระบรมศพ

ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปปางปรินิพานเป็นประธานของอาคารพบได้น้อยมาก เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดอรุณราชวราราม แต่ถ้าเป็นพระประธานของอุโบสถน่าจะมีเพียงที่วัดใหม่จันทรารามแห่งเดียวในไทยเท่านั้นที่ยังเหลือหลักฐานให้เห็นอยู่

ส่วนการสร้างพระพุทธรูปที่แสดงเหตุการณ์ช่วงปรินิพพานนี้ ยังมีอีกปางหนึ่งคือ ปางถวายพระเพลิง คือเป็นช่วงที่พระมหากัสสปะมาสักการะพระบรมศพพระพุทธเจ้า ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีในพระปฐมสมโพธิกถาแต่คงเป็นปางที่เกิดขึ้นสมัยหลังรัชกาลที่ 3

โดยปางถวายพระเพลิงมีทั้งที่พระพุทธเจ้าประทับนอนบนพระแท่นและพระพุทธเจ้าประทับในโล่งพระศพ สามารถพบที่วัดพระเชตุพนฯ วัดราชคฤห์ วัดอินทราราม กรุงเทพฯ วัดเกาะพญาเจ่ง จ.นนทบุรี วัดกลาง จ.อยุธยา วัดสรรพยา จ.ชัยนาท วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เป็นต้น

#วัดใหม่จันทราราม
#วัดใหม่
#พระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน

เรื่องของ...วัดใหม่จันทรารามพระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถวัดใหม่จันทราราม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วลงรักปิดทอง แสดงปางปริน...
12/05/2021

เรื่องของ...วัดใหม่จันทราราม
พระพุทธรูปประธานภายในอุโบสถวัดใหม่จันทราราม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นแล้วลงรักปิดทอง แสดงปางปรินิพพาน มีรูปแบบพิเศษและน่าจะมีเพียงไม่กี่แห่งที่แสดงออกมาในลักษณะเช่นนี้

การกำหนดอายุพระพุทธรูปประธานน่าจะมีอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สังเกตจากลักษณะพระขนงที่ปาย(คิ้ว)โก่งโค้งมาก มีพระเนตร(ตา)ใหญ่เรียวยาว (การทำพระเนตรใหญ่เช่นนี้อาจบ่งบอกถึงงานช่างท้องถิ่น) พระนาสิก(จมูก)ปลายมน พระโอษฐ์(ปาก)แบะ แย้มพระสรวลเล็กน้อย ขมวดพระเกศา(เส้นผม)เล็กคล้ายหนามขนุน ใบพระกรรณ(ใบหู)เป็นวงซ้อนกันหลายชั้น สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษคือ การทำสีจีวรให้เป็นสีแดงเพื่อสร้างความแตกต่างกับพระวรกายที่เป็นสีทองซึ่งมักจะพบการทำในกลุ่มพระพุทธรูปลาว ล้านช้าง และล้านนา

จากการกำหนดอายุจากรูปแบบพระพุทธรูป ก็สัมพันธ์กับประวัติของวัดว่า แต่เดิมวัดนี้เป็นวัดร้างมีนามว่า “วัดพะเนียด” ต่อมาพระเอี่ยมเจ้าอธิการกับทายกเป็นผู้ขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมาใหม่ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) โดยตัววัดอาจจะมีการใช้งานมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างช้า

#วัดใหม่จันทราราม
#วัดใหม่
#พระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน

Address


Website

Alerts

Be the first to know and let us send you an email when Canifa posts news and promotions. Your email address will not be used for any other purpose, and you can unsubscribe at any time.

Contact The Business

Send a message to Canifa:

Shortcuts

  • Address
  • Alerts
  • Contact The Business
  • Claim ownership or report listing
  • Want your business to be the top-listed Travel Agency?

Share