31/08/2019
จังหวัดสุราษฎร์ธานี มักจะเรียกกันด้วยชื่อสั้น ๆ ว่า สุราษฎร์ฯ ใช้อักษรย่อ สฎ เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนบน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และมีประชากรหนาแน่นอันดับ 59 ของประเทศ
สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศอีกจังหวัดหนึ่ง เพราะมีธรรมชาติอันสวยงาม ทั้งหมู่เกาะต่างๆ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน หมู่เกาะอ่างทอง และมีพื้นที่ป่าดิบชื้นบนบกที่อุดมด้วยพืชพรรณอันหลากหลาย สายน้ำมากมาย และสัตว์ป่านานาชนิดสุราษฎร์ธานียังเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบครบครัน มีการคมนาคมที่สะดวก ทั้งทางรถ รถไฟ เรือ และเป็นที่ตั้งของสนามบินถึง 2 แห่ง ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี จนปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนใต้ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหลั่งไหลไปเยี่ยมเยือนปีละหลายล้านคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ประมาณ 12,891 ตารางกิโลเมตร หรือ 8,056,875 ไร่ สภาพภูมิประเทศมีความหลากหลายตั้งแต่เกาะขนาดต่างๆ ในทะเลอ่าวไทย ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่งทะเล และที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำตาปีและแม่น้ำไชยา มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 156 กิโลเมตรสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีชนพื้นเมืองเป็นพวกเซมังและชาวมลายูดั้งเดิม ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำหลวง (แม่น้ำตาปี) และบริเวณอ่าวบ้านดอน และจากการค้นพบร่องรอยของอารยธรรมศรีวิชัยในเขตอำเภอไชยา และพบร่องรอยของเมืองเก่าอีกหลายแห่งบริเวณรอบอ่าวบ้านดอน เช่น เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองท่าทอง เมืองพุนพิน และเมืองเวียงสระ จึงสันนิฐานว่าเมืองไชยาเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรศรีวิชัยในอดีต
เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง เมืองในแถบนี้ได้แยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐ อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช ตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรสุโขทัย ทางเหนือกำลังเจริญรุ่งเรือง และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ไปถึงแหลมมลายู เมืองไชยาจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
ในเวลาต่อมาต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมืองนครศรีธรรมราชอ่อนแอลง ในขณะที่บ้านดอนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน และยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร โดยพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า “กาญจนดิษฐ์” ครั้นเมื่อมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยา เข้าเป็น “อำเภอเมืองไชยา” ต่อมาได้มีการกำหนดให้เรียกอำเภออันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดว่า “อำเภอเมือง” บ้านดอนซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในขณะนั้น จึงเปลี่ยนเป็น “อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี” แปลว่าเมืองแห่งคนดี ตามชื่อจังหวัดที่ได้รับพระราชทาน ส่วนอำเภอเมืองไชยาก็ถูกตัดคำว่า “เมือง” ออกเหลือเพียง “อำเภอไชยา” เป็นอำเภอหนึ่งของสุราษฎร์ธานีมาจนทุกวันนี้