09/11/2021
อยากให้ DJl ทำโดรนที่ต่อระบบ 5G ควบคุมข้ามทวีปได้ครับ อยากนั่งอยู่ Sydney แล้วบินโดรนเล่นที่ไทย
รู้จัก DJI ธุรกิจที่เริ่มจากความฝันวัยเด็ก สู่ผู้ผลิตโดรนขายดีสุดในโลก /โดย ลงทุนแมน
หากเราพูดถึงผู้ผลิตเครื่องบิน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าตลาดที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้น Boeing จากประเทศสหรัฐอเมริกา และ Airbus จากยุโรป
แต่รู้หรือไม่ว่า “โดรน” ซึ่งหลายคนคาดการณ์กันว่าจะเป็นนวัตกรรมบนท้องฟ้า
ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทกับเรามากขึ้น ทั้งในเชิงพาณิชย์ การขนส่ง
ไปจนถึงการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ กลับมีเจ้าตลาดเพียงรายเดียว
เจ้าตลาดรายนั้น มีชื่อบริษัทว่า DJI ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งการตลาดของโดรน
ไปกว่า 7 ใน 10 ของโดรนทั่วไปและโดรนเชิงพาณิชย์ทั้งหมดบนโลก
ที่น่าสนใจคือ DJI ไม่ได้เป็นบริษัทจากทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่มาจากประเทศจีน
โดยที่ตัวผู้ก่อตั้งบริษัท ได้ไอเดียธุรกิจโดรนมาจากความฝันในวัยเด็กของตัวเขาเอง
ซึ่งปัจจุบัน เขาได้เปลี่ยนไอเดียนี้ไปเป็นธุรกิจ ที่ถูกคาดการณ์มูลค่า ไว้มากถึง 500,000 ล้านบาท
ใครกันที่เป็นคนก่อตั้งบริษัท DJI
แล้วความใฝ่ฝันอะไรที่ทำให้เขาสร้างธุรกิจ
ที่กลายมาเป็นเจ้าตลาดนวัตกรรมบนท้องฟ้าในวันนี้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องราวทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากคนที่ชื่อว่า “Frank Wang”
Frank Wang เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1980 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน
จริง ๆ แล้ว ในวัยเด็ก เขาก็เป็นเด็กหนุ่มธรรมดา ที่มีผลการเรียนปานกลาง เรียกได้ว่าไม่ได้มีอะไรโดดเด่น
แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กหนุ่มคนนี้หลงใหลมาโดยตลอด ก็คือ ของเล่นพวกเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์บังคับ
ซึ่งครั้งแรกที่เขารู้สึกสนใจของเล่น เริ่มมาตั้งแต่ตอนที่เขาได้เห็นภาพเฮลิคอปเตอร์สีแดงจากหนังสือการ์ตูน
ตั้งแต่นั้นมา เขาใฝ่ฝันมาตลอดว่าอยากมีเครื่องบินเล็ก ๆ สักลำ ที่คอยบินอยู่ข้างกาย
จนเมื่อ Frank Wang อายุได้ 16 ปี เขาได้รับของเล่นชิ้นสำคัญ ซึ่งคือ เฮลิคอปเตอร์บังคับ
แต่ภายหลังจากที่เขาได้ทดลองเล่นอยู่พักหนึ่ง เขากลับพบว่าการควบคุมเฮลิคอปเตอร์บังคับ ทำได้ค่อนข้างยาก
ในเวลาต่อมา ความไม่พอใจในของเล่นก็ได้ทำให้เขาเริ่มทดลองดัดแปลงชิ้นส่วนภายในให้มันสามารถบังคับได้ง่ายขึ้น ซึ่งเขาก็ได้รับความช่วยเหลืออีกแรงจากคุณพ่อที่เป็นวิศวกร
ด้วยความที่ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง และเขาเองก็ไม่ได้มีผลการเรียนที่โดดเด่นมาก
นั่นทำให้เขาไม่สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่าง MIT หรือ Stanford ได้ตามที่ตั้งใจไว้
และสุดท้ายเขาได้เลือกเข้าเรียนที่ The Hong Kong University of Science and Technology ในสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เช่นเดียวกับสมัยเรียนชั้นมัธยม ผลการเรียนของ Frank Wang ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาโดดเด่นกว่าคนอื่นในชั้นเรียน คือ เขาจะเข้าร่วมโครงการ หรือการแข่งขันต่าง ๆ เมื่อมีโอกาส
และด้วยความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังนี้เอง ทำให้ผลงานของเขาไปสะดุดตาศาสตราจารย์ Li Zexiang
ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัย
Li Zexiang เห็นถึงความสามารถของคุณ Frank Wang จึงได้แนะนำให้เขาไปเข้าร่วม
การแข่งขัน ABU Robocon ซึ่งโจทย์ของการแข่งขันคือ “การสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาในระยะเวลาที่จำกัด”
เพื่อการก้าวไปเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน คุณ Frank Wang ก็ได้ตัดสินใจโดดเรียนทุกคาบ
ทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับการทดลอง ฝึกซ้อม สร้างพัฒนาหุ่นยนต์
ซึ่งในหัวของเขาก็มีหุ่นยนต์ประเภทเดียวที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก
นั่นก็คือ “โดรน” นั่นเอง
และแม้เขาจะสามารถจบการแข่งขันไปได้เพียงอันดับ 3
แต่จุดนี้เอง ก็ได้กลายไปเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจก่อตั้งบริษัท
ร่วมกับเพื่อนของเขาอีก 2 คน ชื่อว่า “Da-Jiang Innovations Science and Technology”
หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า DJI โดยมีอาจารย์ Li Zexiang เป็นผู้คอยให้คำปรึกษา
สำหรับในช่วงแรกนั้น บริษัทยังไม่ได้ผลิตโดรนที่เป็นแบรนด์ของตัวเองขายโดยตรง
แต่เริ่มจากการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์ควบคุมการบิน
รวมไปถึงการรับจ้างผลิตโดรนตามคำสั่งของลูกค้าให้กับทางมหาวิทยาลัย และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในจีน
ในเวลาต่อมา พอบริษัทเริ่มมีรายได้ Frank Wang จึงได้ทำการย้ายไปเปิดสำนักงานที่เมืองเซินเจิ้น หนึ่งในย่านเทคโนโลยีของประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่มีความพร้อมมากกว่าในการทำธุรกิจ เนื่องจากมีทรัพยากรต่าง ๆ ครบครัน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความสามารถ
หลังจากย้ายสำนักงานไปเปิดที่เมืองเซินเจิ้น พร้อมกับเปิดรับพนักงานเพิ่มเติม
ณ เวลานี้ DJI เติบโตมาไกลมากแล้วเมื่อเทียบกับตอนแรกที่มีเพียงคุณ Frank Wang และเพื่อนอีก 2 คน
ถึงตรงนี้ แม้ภายนอกทุกอย่างเหมือนกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี
แต่ภายในบริษัท DJI กลับตรงกันข้ามและกำลังเผชิญปัญหา
เนื่องจากในตอนนั้นบริษัทมีแนวทางที่ไม่ชัดเจน
ในขณะเดียวกัน ตัวคุณ Frank Wang เองก็มีความ Perfectionists
หรือก็คือเป็นผู้ที่หลงใหลในความสมบูรณ์แบบสูง
จึงทำให้เขามักมีปัญหากับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ
โดยเฉพาะเพื่อน 2 คนที่ร่วมก่อตั้งบริษัทขึ้นมากับเขา
และเมื่อทำธุรกิจด้วยกัน แต่คุยกันคนละภาษา
ในที่สุด ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองคนจึงตัดสินใจออกจากบริษัทไป..
แม้ว่า DJI จะเริ่มมีลูกค้าประจำแล้ว แต่ด้วยการที่คุณ Frank Wang เอง
มีเป้าหมายที่จะสร้างโดรนที่สามารถใช้งานได้ทั่วไปและเข้าถึงคนเป็นจำนวนมากได้
จึงทำให้ทางบริษัท ต้องใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก
ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างย่ำแย่
บริษัทได้รับเงินทุนประมาณ 3 ล้านบาทจากคุณ Lu Di ซึ่งเป็นเพื่อนของคนในครอบครัวเขา
รวมไปถึงความช่วยเหลือจากคุณ Swift Xie เพื่อนสมัยมัธยมของเขา ที่นอกจากจะเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว ยังเข้ามาช่วยในเรื่องการทำการตลาดให้กับบริษัท
ในที่สุด โดรนตัวแรกของ DJI ก็ถูกสร้างขึ้นมาสำเร็จในปี 2008
และแล้วจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ DJI Technology ก็มาถึง
เมื่อคุณ Frank Wang เริ่มมองหาโอกาสในการเติบโตนอกประเทศ
ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในเป้าหมายของเขา ก็คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปี 2011 เขาตัดสินใจนำผลิตภัณฑ์ของ DJI ไปโชว์ที่งานแสดงสินค้า UAV หรือ อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งรวมถึงโดรนด้วย โดยงานได้จัดขึ้นที่เมือง Muncie ในรัฐ Indiana ประเทศสหรัฐอเมริกา
จากการไปงานแสดงสินค้าในครั้งนั้น ทำให้เขาได้พบกับ Colin Guinn นักธุรกิจหนุ่มสัญชาติอเมริกัน
ซึ่งในขณะนั้นกำลังมองหาวิธีถ่ายภาพจาก UAV ที่เสถียรและมีประสิทธิภาพสูง
เมื่อทั้งคู่ได้พบกัน จึงทำให้ทั้งคู่กลายมาเป็นพาร์ตเนอร์ในการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกา
และก็ได้ก่อตั้งบริษัท “DJI North America” ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจที่นี่โดยเฉพาะ
โดยให้ DJI บริษัทแม่ถือหุ้น 52%
ในขณะที่อีก 48% เป็นของ Colin Guinn
ซึ่งเขาเองเป็นผู้รับหน้าที่ ในการดูแลธุรกิจของ DJI ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2013
ทางบริษัท DJI ได้เปิดตัวโดรน “Phantom 1”
ซึ่งเป็นโมเดลแรกของโดรนซีรีส์ Phantom และนับเป็นโดรนตัวแรก ๆ ที่มีการนำส่วนประกอบต่าง ๆ
เช่น Gimbal หรืออุปกรณ์ป้องกันการสั่นของกล้อง, ใบพัด, ริโมตควบคุม มารวมไว้ด้วยกันจบครบในที่เดียว ทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องไปสั่งซื้ออุปกรณ์อื่นเพิ่มเติม รวมถึงยังมีซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย
เรียกได้ว่าโดรน Phantom 1 ตัวนี้ กลายมาเป็นโดรนประสิทธิภาพสูงที่ใช้งานง่ายที่สุดในช่วงเวลานั้นเลยทีเดียว และด้วยเหตุนี้เองทำให้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
หลังจากความสำเร็จของ Phantom 1
DJI ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นและเริ่มกระจายไปประเทศต่าง ๆ ตามที่คุณ Frank Wang ตั้งใจไว้
โดยในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทมีสัดส่วนรายได้
30% จากเอเชีย
30% จากสหรัฐอเมริกา
30% จากยุโรป
10% มาจากประเทศในโซนลาตินอเมริกา และแอฟริกา
เรียกได้ว่า ณ ตอนนี้ กระจายไปหลายทวีปทั่วโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ DJI เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นในชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดด
Colin Guinn กลับเริ่มแอบอ้างว่าตัวเขาเอง เป็นผู้พัฒนาโดรนรุ่น Phantom ขึ้นมา
รวมถึงมักแอบอ้างว่าตนเองเป็น CEO และผู้ก่อตั้งของบริษัท DJI Technology
จุดนี้เอง ทำให้คุณ Frank Wang ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ตัวจริง
เริ่มไม่พอใจกับการกระทำนี้ของ Colin Guinn
และแล้วจุดแตกหักก็มาถึง
เมื่อ Colin Guinn แอบไปทำสัญญากับทาง GoPro ให้เป็นผู้ผลิตกล้อง
ให้กับทาง DJI Tech โดยที่ไม่ได้ปรึกษาคุณ Frank Wang
ซึ่งการกระทำในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับ Frank Wang เป็นอย่างมาก
เขาเลยตัดสินใจบอกให้ Colin Guinn และทีมที่เกี่ยวข้อง ลาออกจากบริษัท
แน่นอนว่าทาง Colin Guinn เอง ก็ไม่ยอมง่าย ๆ..
แต่ในเมื่อไม้อ่อนใช้ไม่ได้ผล คุณ Frank Wang จึงเริ่มใช้ไม้แข็ง ซึ่งเขาก็ได้หักดิบโดยการปิดบัญชีของ Colin Guinn และลูกทีมของเขา ให้ไม่สามารถเข้าระบบของบริษัท
เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้ทาง Colin Guinn ตัดสินใจไปฟ้องศาล
แต่สุดท้าย เรื่องราวจบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายออกมาตกลงกันเองนอกศาล
โดยทาง DJI จะทำการซื้อหุ้นของ DJI North America คืน จาก Colin Guinn ทั้งหมด พร้อมกับจ่ายเงินชดเชยให้เพิ่มเติม แลกกับการที่ให้ Colin Guinn พร้อมกับทีมที่เกี่ยวข้องออกจากบริษัทไป
แต่เรื่องราวก็ยังไม่ได้จบเพียงเท่านั้น
เพราะ Colin Guinn และลูกทีมบางส่วน
ได้ตัดสินใจไปร่วมกับบริษัท “3D Robotics” เพื่อพัฒนาโดรนมาแข่งกับทาง DJI
และแล้ว สงครามระหว่างอดีตผู้ร่วมก่อตั้งก็ได้เริ่มต้นขึ้น..
Colin Guinn ซึ่งเคยร่วมงานกับทาง DJI มาเป็นเวลากว่า 3 ปี รู้ดีว่าเขาไม่สามารถพัฒนาโดรนที่มีศักยภาพมากพอ ที่จะต่อกรกับโดรนของ Frank Wang ได้โดยตรง แต่จุดที่เขาจะสามารถเอาชนะทาง DJI ได้คือ “ซอฟต์แวร์”
เนื่องจากซอฟต์แวร์ของ DJI เป็นระบบปิด ซึ่งจะมีแค่เพียงบริษัท DJI เท่านั้น ที่สามารถเข้ามาพัฒนาได้
หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น ระบบ iOS ของ Apple ก็เป็นระบบปิด ซึ่งก็จะมีเพียงทีมนักพัฒนาจากทาง Apple เท่านั้น ที่สามารถเข้ามาพัฒนาได้
ทาง Colin Guinn รู้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และคิดว่าจุดนี้แหละ ที่จะทำให้เขาแย่งส่วนแบ่งมาจาก DJI ได้
เขาจึงเลือกที่จะสู้กับทาง DJI ด้วยการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของ 3D Robotics ให้เป็นระบบเปิด
หรือที่เรียกกันว่า “Open Source” เพื่อหวังที่จะให้มีนักพัฒนา เข้ามาร่วมพัฒนาตัวซอฟต์แวร์ให้มีความเสถียรมากกว่าของ DJI
หลังจากซุ่มพัฒนาอยู่พักหนึ่ง จนถึงในปี 2015
บริษัท 3D Robotics ก็เปิดตัวโดรนโดยใช้ชื่อว่า “Solo”
ซึ่งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแบบเปิด ตามที่ Colin Guinn วางแผนไว้
แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นแบบที่ Colin Guinn คิด เมื่อทาง DJI ที่เพิ่งระดมทุนได้จาก Venture Capital ยักษ์ใหญ่อย่าง Sequoia
แก้เกมกลับด้วยการปรับลดราคาโดรนรุ่นเก่าจาก 22,000 บาท เหลือเพียง 16,000 บาท
ในขณะที่โดรน Solo ของทาง 3D Robotics ณ เวลานั้น มีราคาอยู่ที่ 33,000 บาท
ด้วยราคาที่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง
บวกกับชื่อเสียงของ DJI ที่มากกว่า 3D Robotics
ทำให้ไม่มีใครอยากซื้อโดรนน้องใหม่อย่าง Solo
และเมื่อไม่มีผู้ใช้งาน ก็ไม่มีนักพัฒนาคนไหนอยากเข้ามาพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ไม่มีคนใช้
ชัยชนะของสงครามโดรนในครั้งนี้จึงตกไปอยู่ในมือของ Frank Wang
หลังจากวันนั้น DJI ก็ค่อย ๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งหากนับจากปี 2013 ที่เปิดตัวโดรน Phantom 1 จนถึงปี 2017
บริษัทมีรายได้เติบโตจาก 4,300 ล้านบาท เป็น 91,000 ล้านบาท
คิดเป็นการเติบโต 21 เท่าในเวลาเพียง 4 ปี
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ DJI ได้เข้าไปอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม
เช่น การก่อสร้าง, อุตสาหกรรมการเกษตร ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์
โดยซีรีส์ระดับโลกอย่าง Game of Thrones เอง ก็ใช้โดรนของทาง DJI เช่นกัน
ในปีที่ผ่านมา DJI มีรายได้อยู่ที่ 127,000 ล้านบาท
โดยโดรนกว่า 70% ที่เราเห็นบินอยู่บนฟ้าก็เป็นของ DJI
ส่วนบริษัทถูกประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท
ด้วยความสำเร็จนี้เองส่งผลให้คุณ Frank Wang ผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดนี้
มีมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 160,000 ล้านบาท
ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าเรื่องทั้งหมดนี้ จะมีจุดเริ่มต้นมาจากความหลงใหล
และความใฝ่ฝันในวัยเด็ก ที่เขาอยากมีเครื่องบินเล็ก ๆ ลอยอยู่ข้างกาย..
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
จำได้หรือไม่ว่าช่วงที่ DJI เผชิญปัญหาด้านการเงิน
มีนักลงทุน 2 คนที่นำเงินมาลงทุนและช่วยพยุง DJI ให้ผ่านวิกฤติไปได้
คนแรกคือคุณ Lu Di ซึ่งเป็นเพื่อนของคนในครอบครัวเขา
ได้นำเงินมาลงทุนคิดเป็นมูลค่า 3 ล้านบาท โดยแลกกับหุ้น 16% ของบริษัท
ปัจจุบันเงิน 3 ล้านบาทก้อนนั้น ได้เพิ่มมูลค่ากลายมาเป็นทรัพย์สินหลักของคุณ Lu Di ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดกว่า 56,000 ล้านบาท
คนที่สองคือคุณ Swift Xie เพื่อนสนิทของคุณ Frank Wang สมัยเรียนมัธยม
ซึ่งเขาเห็นถึงความสามารถของคุณ Frank Wang
จนถึงกับยอมขายอะพาร์ตเมนต์ของเขา เพื่อนำเงินมาลงทุน โดยแลกกับหุ้นบริษัท 14%
ซึ่งวันนี้ ส่งผลให้คุณ Swift Xie มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 49,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงท-นแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-https://www.forbes.com/sites/ryanmac/2015/05/06/dji-drones-frank-wang-china-billionaire/?sh=33706f6cb48f
-https://www.yosuccess.com/success-stories/frank-wang-dji-technology/
-https://en.wikipedia.org/wiki/DJI
-https://en.wikipedia.org/wiki/Frank_Wang
-https://www.forbes.com/profile/frank-wang/?sh=266ce7d24125
-https://vulcanpost.com/595197/life-lessons-dji-frank-wang/
-https://www.vox.com/2017/4/14/14690576/drone-market-share-growth-charts-dji-forecast
-https://inf.news/en/economy/9141bc30579da4e2ed51fb0a35d0b5a6.html
-https://www.wiki.ng/en/wiki/who-is-colin-guinn-from-the-amazing-race-bio-age-family-wife-salary-456141
-https://www.theverge.com/2015/4/13/8394359/3d-robotics-solo-drone-quadcopter-gopro
-https://www.drdrone.ca/blogs/drone-news-drone-help-blog/timeline-of-dji-drones
-https://www.forbes.com/profile/swift-xie/?sh=6c8379a741cb
-https://www.forbes.com/profile/lu-di/?sh=4d192d0a79fb
-https://www.statista.com/statistics/1255340/dji-sales-revenue/
-https://www.statista.com/statistics/250577/domestic-market-share-of-leading-us-airlines/