12/04/2024
วิธีทำ “แผนเที่ยว” สถานที่ต่าง ๆ ฉบับนักเดินทางมือใหม่
เลือกประเทศที่อยากจะไป
แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องเลือกประเทศที่เราอยากจะเดินทางไปก่อนในขั้นแรก ไม่ว่าจะอยากไปเพราะอยากตามรอยซีรีส์เรื่องโปรด ฟังคนอื่นเขามาแล้วจินตนาการตามไปว่าสวยดี ไปอ่านรีวิวมาแล้วถูกใจ หรืออยากจะเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ ไม่ก็ประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าก็ได้ จากนั้นแนะนำให้ไปซื้อหนังสือนำเที่ยวประเทศนั้น ๆ มาอ่านศึกษาข้อมูล ในนั้นจะมีข้อมูลการเที่ยวที่ค่อนข้างครอบคลุมทั้งเมืองหรือทั้งประเทศ แล้วก็ลองเลือกมาว่าเราจะเที่ยวแค่เฉพาะเมืองนั้น ๆ หรือจะมีเดินทางข้ามเมืองด้วย
แม้ว่าทุกวันนี้เราจะหาข้อมูลทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ตและการเปิดแอปฯ แผนที่ แต่จะบอกว่าหนังสือนำเที่ยวมันมีความคลาสสิกกว่าเยอะ มันทำให้เรารู้สึกว่าการเที่ยวครั้งนี้มันสัมผัสได้มากกว่า ได้กลิ่นอายของการเดินทางผ่านหน้ากระดาษ เพราะเราจะใกล้ชิดข้อมูลต่าง ๆ ในหนังสือมากกว่า ส่วนข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็เปิดควบคู่กันไป หรือจะเปิดแค่เฉพาะตอนที่อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ได้ (ถ้าไม่อยากเสียเงินซื้อหนังสือ หรือถนัดอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ จอมือถือมากกว่า จะเปิดหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวก็ได้ ไม่เป็นไร)
ที่นี่มีอะไรให้ทำบ้าง และเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจ
พอเลือกจุดหมายปลายทางได้แล้ว ต่อไปก็มาดูกันว่าประเทศนั้น ๆ มีอะไรให้ดู หรือให้ทำบ้าง เลือกและตัดสินใจได้เองตามสไตล์ที่เป็นเรา บางคนชอบผจญภัย แต่บางคนชอบไปเดินเล่นพิพิธภัณฑ์ดูของเก่ามากกว่า หรืออาจจะแค่อยากไปเก็บสถานที่แลนด์มาร์กเฉย ๆ ก็ไม่ว่ากัน สไตล์ใครสไตล์มันอยู่แล้ว พลิกหน้าหนังสือดูมีที่เที่ยวไหนที่ถูกใจก็แปะโน้ตไว้ บางคนอาจจะวางแผนเที่ยวแค่ในเมืองเดียว แต่บางคนอาจมีการเดินทางไกลข้ามเมือง ซึ่งจะยุ่งยากกว่าก็จริงแต่ยังไม่ต้องสนใจ แค่โน้ต ๆ ไว้ก่อนก็พอ มีที่ไหนที่ต้องไปดูให้ได้ มีร้านอาหารไหนที่จะต้องไปลอง
เมื่อได้สถานที่ต่าง ๆ มาแล้ว ก็มาคำนวณจากจำนวนสถานที่ดูว่าเราจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นกี่วัน จะไปเดือนไหนดีที่สภาพอากาศเป็นใจ ตรงวันหยุดยาวของไทยหรือเปล่า หรือต้องลางานกี่วัน
เลือกย่านที่พัก หาจุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง
ปกติในหนังสือนำเที่ยวหรือในอินเทอร์เน็ต จะมีคำแนะนำอยู่แล้วว่าย่านไหนของเมืองที่เหมาะแก่เลือกเข้าพัก อาจด้วยย่านนั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างครบครัน หรือหลัก ๆ ก็คืออยู่ใกล้ศูนย์กลางการคมนาคม เริ่มต้นเดินทางสะดวก อยู่ใกล้แหล่งชอปปิง ถูกใจขาชอป พร้อมทั้งมีแนะนำชื่อที่พักตามประเภทหรือเรตราคาต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย เราสนใจโรงแรมหรูหรือแค่โฮสเทลธรรมดา ๆ อยากได้ที่พักที่มีบริการอะไรบ้าง ก็ลองเข้าไปหาอ่านรีวิวความพึงพอใจจากเว็บไซต์จองที่พักได้ ถ้าสภาพโอเคถูกใจ สิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนก็เลือกจองได้เลย อย่าลืมว่านี่เป็นการเตรียมตัวเดินทางล่วงหน้า ยิ่งเตรียมตัวเร็ว ก็จองที่พักได้ล่วงหน้านาน ราคาจะถูกกว่า
สาเหตุที่เราต้องเลือกย่านที่พักก่อน ก็เพื่อที่จะได้รู้ว่าการเริ่มต้นเที่ยวในแต่ละวันนั้น เราจะต้องเริ่มต้นออกเดินทางจากบริเวณไหนของเมือง (ควรมีแผนผังรถไฟฟ้า ปักหมุดตัวโต ๆ ไว้ที่สถานีที่พัก) จะได้กำหนดทิศทางและเส้นทางของสถานที่ที่จะไปในแต่ละวันได้ ในกรณีที่เราเที่ยวแค่ในเมืองเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนที่พักหลายที่ เที่ยวเสร็จก็นั่งรถกลับมาที่พัก วันรุ่งขึ้นใช้เส้นทางใหม่ เช่น เที่ยววันแรกจะใช้เส้นทางทางทิศตะวันออกของสถานีที่พัก เที่ยววันที่สองจะใช้เส้นทางทางทิศตะวันตกของสถานีที่พัก เป็นต้น
จัดกลุ่มสถานที่ต่าง ๆ นำลงตาราง ยังไม่ต้องลงเวลา
หลังจากที่ได้สถานที่เที่ยวต่าง ๆ ที่อยากจะไป และก็รู้แล้วด้วยว่าในแต่ละวันเราต้องเริ่มออกเดินทางจากจุดไหน ก็ถึงเวลาจัดกลุ่มสถานที่เหล่านั้นเพื่อลงตารางเที่ยวในแต่ละวัน ขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องมีแผนที่ของเมืองนั้น ๆ ที่แสดงสถานที่เที่ยวต่าง ๆ หรือพวกแผนผังเส้นทางยานพาหนะหลักที่เราจะใช้สำหรับการเดินทางในเมืองนั้นอยู่ในมือด้วย (เช่นแผนผังรถไฟฟ้าใต้ดิน) เพราะเราจะจัดกลุ่มสถานที่เที่ยวจาก “เส้นทางการเดินทางเส้นเดียวกัน” คือวันนี้จะมุ่งหน้าไปทิศทางไหนก็ไปทางนั้นยาว ๆ ต้องใช้รถไฟฟ้าสายไหนบ้าง ก็ใช้ไปเลยให้มันอยู่ในทิศทางเดียวกัน จะได้ไม่ต้องนั่งรถย้อนไปมาให้เสียเวลาและเสียค่าเดินทางแพงขึ้นโดยใช่เหตุ
จากนั้นก็มาไล่ดูว่าสถานที่แต่ละแห่งที่เราจะไป มีที่ไหนบ้างที่ใช้เส้นทางเดียวกัน หรือเดินทางไปทิศทางเดียวกัน ปกติทั้งในหนังสือนำเที่ยวและในอินเทอร์เน็ต มักมีรายละเอียดบอกอยู่แล้วว่าสถานที่นี้ต้องใช้รถไฟฟ้าสายไหน ลงสถานีอะไร ออกประตูไหนใกล้ที่สุด ทำการมาร์กจุดสถานที่เลยว่าที่นี่ลงสถานีนี้ เที่ยวเสร็จกลับมาขึ้นรถแล้วจะไปไหนต่อ ลงตารางเป็นลำดับไปเลยว่าจะแวะที่ไหนก่อนหลังหนึ่งสองสามสี่ เพียงเท่านี้เราก็จะได้รู้แล้วว่าในวันที่หนึ่งจะไปไหนบ้าง วันที่สองไปไหนบ้าง ถ้ามีการเดินทางออกนอกเมือง ทำสัญลักษณ์ไว้ด้วย เผื่อว่าเราต้องจองตั๋วยานพาหนะที่จะพาเราข้ามเมืองไว้ล่วงหน้า และถ้าจะค้างคืนที่นั่น เราต้องจองที่พักเพิ่มด้วย
ลงเวลาในตาราง แต่ละที่มีอะไรให้ทำ จะใช้เวลาเท่าไร
ตารางที่เรามีในมือตอนนี้ไม่ใช่ตารางที่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการวางแผนว่าเราจะใช้เวลาอยู่ในสถานที่นั้น ๆ นานแค่ไหน ทีนี้เราก็มาไล่ดูแต่ละที่ไปเลยว่าสถานที่นั้น ๆ คืออะไร มีอะไรให้ทำบ้าง แล้วจะใช้เวลาอยู่ที่นี่นานแค่ไหน โน้ตรายละเอียดไว้ เพราะที่เที่ยวแต่ละแห่ง แต่ละกิจกรรม ใช้เวลาไม่เท่ากัน ถ้าตั้งใจแค่ไปถ่ายรูปแลนด์มาร์กเฉย ๆ ก็อาจจะแค่ครึ่งชั่วโมงแล้วเปลี่ยนที่ แต่ถ้าเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์ ต้องมี 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หรือถ้าเป็นแหล่งชอปปิง 1 ชั่วโมงไม่น่าพอ คาดการณ์เวลาไว้เลยว่าจะอยู่ที่นั่นตั้งแต่กี่โมงจนถึงกี่โมง
ตรงส่วนนี้มีประโยชน์ในการคำนวณเงินด้วย สถานที่บางแห่งไม่ได้เข้าฟรี หรือเข้าไปแล้วก็อาจจะไปเสียเงินยิบย่อยอีกจากกิจกรรมที่ทำข้างใน อย่าลืมคำนวณเวลาในการเดินทางไปและกลับออกมา และถ้าเป็นช่วงมื้ออาหาร หากตั้งใจจะหาอะไรกินที่นั่น ก็บวกเวลาที่จะใช้กินอาหารเข้าไปเพิ่มด้วย (ร้านดังมีเวลาต่อคิวด้วยนะ) หัวใจสำคัญคือจะต้องรักษาเวลา ไม่อย่างนั้นตารางจะรวนไปหมด สถานที่ท้าย ๆ ตารางอาจจะไปไม่ทันและต้องตัดทิ้งอย่างน่าเสียดาย ในกรณีที่มีสถานที่อยากไปเยอะเกินไป เที่ยวให้ครบไม่น่าทัน (การเดินทางทั้งวันทำให้เราเหนื่อยเพลีย) จะตัดสถานที่ที่อยากไปน้อยกว่าออกก็ได้ สถานที่อื่นก็ขยับเวลาขึ้นมา ทำแบบนี้ไล่ไปจนครบวันเที่ยวทุกวัน
เพียงเท่านี้ เราก็จะได้แผนเที่ยวอย่างง่าย ๆ ที่เราเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด ซึ่งถ้ามีการเดินทางข้ามเมือง แล้วตั้งใจจะเที่ยวเมืองนั้น ก็ใช้วิธีเดียวกันนี่แหละในการทำแผนเที่ยวของตัวเองขึ้นมา ถ้าเราทำการบ้าน ศึกษาข้อมูลสถานที่ต่าง ๆ มาเป็นอย่างดี ทั้งประเภทของสถานที่ กิจกรรมที่จะทำภายในสถานที่นั้น ๆ เราจะพอคาดเดาของเราได้ว่าเราจะใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานแค่ไหนเพื่อทำกิจกรรมที่เราอยากทำ และอย่าลืมว่าหัวใจสำคัญคือการรักษาเวลา มันอาจจะดูบีบ ๆ ไปนิดในการทำกิจกรรม การเดินทาง แต่ถ้าเราอยากเที่ยวหลายที่มันก็ต้องเข้มงวด เราถึงจะสามารถเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่วางแผนได้ครบตามใจหวัง