21/09/2019
อธิบายเรื่องเวลาเครื่องบินมีหน้ากาก oxygen ลงมาได้ดีมากครับ ✈🙏
จำไว้ว่ากรณีเกิดเหตุการณ์ต้องใส่หน้ากาก oxygen ให้ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงช่วยเหลือเด็ก หรือ คนอื่นครับ 👍👪
Cr. #บินแหลก
“ระทึก” กันอีกแล้ว
เคยเห็นข่าวแนวๆนี้หลายครั้งแล้ว เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเวลาเครื่องบินมีหน้ากาก oxygen หล่นลงมา เครื่องบินจะต้อง “ดิ่ง” ทุกครั้งไป
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวข้อข่าวมาแนวนี้
ข่าวต้นเรื่อง
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2905698
✈️✈️✈️✈️✈️
แอดจะขออธิบายทีละข้อๆนะ
เครื่องบินโดยสาร ปกติจะบินอยู่ที่ความสูง ตั้งแต่ 2 หมื่นกว่าๆ ถึง 4 หมื่นฟุต (คร่าวๆ) ซึ่งเป็นความสูงที่เป็นประโยชน์ต่อการบิน เนื่องจากอากาศเบาบาง ทำให้บินได้เร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น แล้วก็เดินทางได้ไกลขึ้น แถมยังพ้นจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจหลายๆอย่าง
แต่ความสูงระดับนั้น อากาศมันบางเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ ในตัวเครื่องบินจึงต้องมีการอัดอากาศ (pressurize) คล้ายๆกับลูกโป่ง 🎈 เพื่อให้อากาศภายในตัวเครื่องบิน มีแรงดันเท่าๆกับระดับความสูง 6,000 ถึง 8,000 ฟุต ซึ่งเป็นระดับความสูงที่มนุษย์สามารถหายใจได้
คนเราสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปจนถึงความสูงประมาณ 10,000 ฟุต เกินได้นิดหน่อย
ในขณะที่เครื่องบินกำลังเดินทางอยู่ที่ความสูง cruising level แล้วเกิดระบบ pressurization ขัดข้อง หรือมีการรั่ว ทำให้เครื่องบินเกิดมีการสูญเสียความดัน เราเรียกว่า decompression ซึ่งมีหลายแบบ ทั้งแบบ rapid decompression (เสียความดันอย่างทันทีทันใด) หรือ gradual decompression (เสียความดันแบบช้าๆ) ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ถ้าความดันในห้องโดยสารต่ำกว่าระดับที่ปลอดภัย หน้ากาก oxygen จะปล่อยลงมาโดยอัตโนมัติ พร้อมกับไฟในห้องโดยสารจะสว่างสุดเอง และมี PA อัตโนมัติให้รีบสวมหน้ากาก oxygen
⚠️⚠️ตรงนี้สำคัญมาก⚠️⚠️
ให้ใส่หน้ากากตัวเองก่อน ค่อยไปช่วยเหลือผู้อื่น เพราะคุณมีเวลาไม่กี่วินาที ก่อนจะหมดสติ การใส่หน้ากากให้ตัวเองก่อน แล้วช่วยเหลือผู้อื่น เช่นเด็กเล็ก จะเป็นวิธีที่เร็วที่สุด แล้วปลอดภัยทั้งคู่
หมายถึงหน้ากาก oxygen นะ ใครคว้าหน้ากาก Spider-Man มาใส่ ก็ตัวใครตัวมันนาจาาา
หน้ากาก oxygen ที่ปล่อยลงมา สามารถยืดเวลา ให้ทุกคนบนเครื่องบินหายใจได้ แต่ก็มีเวลาจำกัด โดยทั่วไปก็ประมาณ 15 นาที ขึ้นอยู่กับเครื่องบินและระบบ oxygen ที่ติดตั้งไว้ มีเวลาพอให้ถ่าย selfie
ไม่มี pressurization เครื่องบินยังบินที่ cruising level ได้สบาย ไม่มีผลกระทบใดๆทั้งสิ้น ไอ้ที่อยู่ไม่ได้น่ะ คนในเครื่องบินต่างหาก
อ้าวแล้วทำไงอ่ะ?!
ก็ต้องรีบไปอยู่ในที่ ที่คนหายใจได้น่ะสิ!!
และที่ตรงนั้น ที่ฉันควรไปคือ ความสูง 10,000 ฟุต
เมื่อนักบินทราบว่าเกิด decompression จะต้องรีบลดระดับลงมาที่ความสูง 10,000 ฟุต ให้เร็วที่สุด (emergency descend) เพราะว่าความดันภายในห้องโดยสาร จะปรับเท่ากับอากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว การลงมาที่ความสูง 10,000 ฟุต จะสามารถทำให้ทุกคนหายใจได้ตามปกติ โดยที่ไม่ต้องพึ่งหน้ากาก oxygen
ด้วยการดีไซน์ของเครื่องบิน มันถนัดบินมากกว่า ดังนั้นการลดละดับอย่างรวดเร็ว มันไม่ใช่แค่ปักหัวทิ่มลงมาก็ได้
การลดระดับให้เร็วที่สุด ทำได้ด้วยการ ใช้ descend speed ที่สูง แต่ไม่เกิน limit และใช้ full speed brake ซึ่งมันจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เพราะว่ามันจะเป็นแผ่นด้านบนปีก ที่จะกางออกสุด ทำให้อากาศที่ไหลผ่านด้านบนปีกถูกรบกวน เพื่อทำลายแรงยกบางส่วน เครื่องก็ลดระดับได้เร็ว แต่ได้ของแถมคือความสั่นหงึกๆๆๆ — อันนี้ปกติ ไม่มีความอันตรายเลย
แต่ผู้โดยสารที่อยู่ในเครื่อง ที่มองเห็นภาพ หน้ากาก oxygen ปล่อยลงมา สักพักเครื่องก็กดหัวลง แล้วก็สั่นๆๆ ก็คงตกใจกลัวเป็นธรรมดา
แต่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่การ “ดิ่ง” เสียความสูงหลายหมื่นฟุต ภายในเวลาไม่กี่นาที แบบที่หัวข้อข่าวพยายามนำเสนอ เพราะการ ลดระดับอย่างรวดเร็ว เป็นการกระทำที่ตั้งใจ เพื่อช่วยให้ทุกคนหายใจได้ (ไม่ดีเหรอ?)
ความน่ากลัวที่แท้จริง คือการหายใจไม่ออกแล้วหมดสติต่างหาก การขาด oxygen นานๆ ถึงรอดมาได้ ก็อาจมีสิทธิ์สูญเสียเซลล์สมองบางส่วนอย่างถาวร แต่ตรงนี้คิดว่าคงไม่เรียกความตื่นเต้นได้พอที่จะเอามาตั้งเป็นหัวข้อข่าวหรอกมั้ง
คำว่า “ระทึก” หรือ “ดิ่ง” น่าจะเรียกความสนใจได้มากกว่า อันนี้แอดก็ไม่ทราบได้ ไม่ได้ทำงานวงการข่าว
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มันปลูกฝังความเข้าใจที่ผิดให้กับผู้อ่าน ข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวแรกที่เขียนแบบนี้ ทุกครั้งที่มี decompression ก็จะต้องมีการเขียนข่าวราวกับว่าเครื่องจะพุ่งโหม่งโลกทุกทีไป ภาษาไทยก็ “ดิ่ง” สำนักข่าวภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า “plunges” เรียกความตื่นเต้นเหมือนกันทั่วโลก
สร้างความกลัวความตกใจให้ผู้อ่านเปล่าๆ โดยที่ไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
แอดก็ขอเป็นเสียงเล็กๆที่ได้อธิบายให้เพื่อนๆได้มีความรู้ที่ถูกต้อง แค่นี้ก็ดีใจแล้ว 😁
——————
Admin Bowl
——————