สิ่งหนึ่งที่คู่มากับจังหวัดสมุทรสงคราม ก็คือแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่ ซึ่งมีอยู่มากมาย ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านผูกพันกับแม่น้ำลำคลองเรื่อยมา ทั้งการสัญจรไปมาหาสู่กัน การประกอบอาชีพต่าง ๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนภาพชุมชนริมน้ำได้ชัดเจน คือ ตลาดน้ำ ที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา ในสมัยนั้นชาวบ้านจากสมุทรสงครามจะพายเรือนำพืชผัก ผลไม้ กุ้ง หอย ปู ปลา กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม
ล่องเข้าไปขายต่อเนื่องถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ก่อนที่ตลาดน้ำจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปราว 60 ปีที่แล้วเมื่อการสัญจรทางบกสะดวกขึ้น ภาพความคึกคักจอแจของผู้คนและเรือบรรทุกพืชผล สินค้า แน่นขนัดในลำคลอง เสียงเจรจาซื้อขาย พูดคุยทักทายกันทั่วท้องน้ำ นับวันจะหาดูได้ยากยิ่ง แต่ความมีชีวิตชีวาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ที่ "ตลาดน้ำท่าคา"
ตลาดน้ำจะมีในวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันขึ้นหรือวันข้างแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ 12 ค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00- 12.00 น
บริเวณตลาดน้ำท่าคาบรรยากาศสองฝั่งน้ำร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าวและสวนผลไม้ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ชาวบ้านจะเริ่มทยอยพายเรือออกมาจากสวน บ้างก็มาจากละแวกใกล้เคียงบรรทุกผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ ล่องมาขาย สินค้าที่หลากหลายเหล่านี้เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่น สภาพภูมิประเทศ พืชพันธุ์ ผลผลิต วิถีชีวิตผู้คน ตลาดน้ำจึงเป็นตัวเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันไว้ด้วยกัน เป็นศูนย์กลางการพบปะของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวจากภายนอก บริเวณที่ติดตลาดมีทางเดินปูนริมน้ำและสะพานข้ามคลอง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมตลาดน้ำได้อย่างทั่วถึง
บริเวณด้านหน้าทางเข้าตลาดน้ำมีศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตลาดน้ำท่าคา มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ในชุมชนจำหน่าย มีการสาธิตการเคี่ยวตาล หยอดตาล และบริการพาล่องเรือเที่ยวสวน