04/06/2023
สาเหตุที่ ร.๕ ทรงเลือกเมืองตราดและทรงสละนครวัดให้ฝรั่งเศส
.
คนไทยจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่า ทำไมร.๕ ทรงทิ้ง
นครวัด ทะเลสาบ และพื้นที่ ๕๐,๐๐๐ ตร.กม.เพื่อแลกกับเมืองตราด ที่มีพื้นที่เพียง ๒,๘๑๙ ตร.กม.เท่านั้น
.
ส่งประวัติศาสตร์นี้ให้ลูกหลานอ่าน จะได้รับทราบพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ ๕ จะได้ไม่ถูกชักจูงให้ทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ชาวไทยทุกคนภูมิใจกันว่า ประเทศของเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ประวัติศาสตร์ก็ต้องจารึกไว้ว่าพี่น้องร่วมชาติของเราในจังหวัดจันทบุรีต้องตกอยู่ใต้การยึดครองของฝรั่งเศสถึง ๑๐ ปี ส่วนจังหวัดตราดยิ่งกว่านั้น ต้องทำพิธีมอบเมืองให้ตกไปรวมอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส เป็นเวลา๒ ปี ๖ เดือน
.
รัชกาลที่ ๕ จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละนครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และทะเลสาปเสียมราฐ อันกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เลี้ยงคนได้ทั้งอินโดจีน ซึ่งรวมอยู่ในเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ มีพื้นที่ถึง ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองตราด ซึ่งมีพื้นที่เพียง ๒,๘๑๙ ตารางกิโลเมตรคืนมา ก็เพราะทรงเห็นว่าสิ่งมีค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ก็คือ “คน”
.
ทรงรักคนไทยยิ่งกว่าพื้นที่กว้างใหญ่แต่ผู้คนพื้นเมืองเป็นชาวเขมร
.
พื้นที่ซึ่งทรงสละไปนั้นประชาชนที่อยู่เป็นชาวเขมร แต่ประชาชนในจังหวัดตราดเป็นคนไทย ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๔๗ ที่เราถูกบังคับให้ทำพิธีมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส นอกจากยื่นเอกสารต่อกันแล้ว มีการชักธงช้างลงจากยอดเสาหน้าศาลากลางจังหวัด แล้วชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสาแทน ทหารฝรั่งเศสเป่าแตรทำความเคารพนั้น บรรดาข้าราชการไทยที่ต้องไปทำพิธีอันแสนหดหู่นี้พากันน้ำตาซึม รีบหันหลังกลับลงเรือมกุฏราชกุมารกลับพระนคร โดยมีข้าราชการของจังหวัดตราดและเกาะกงอาศัยกลับเข้าพระนครด้วย
.
จนในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ ในการรับมอบจังหวัดตราดคืนจากฝรั่งเศส พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ทำพิธีมอบให้ฝรั่งเศสไว้เมื่อเกือบ ๓ ปีก่อนไปทำพิธีรับมอบด้วยตนเอง
.
เมื่อตราดกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของพี่น้องไทยอีก ราษฎรที่ทิ้งถิ่นมาก็อยากกลับไปสู่ถิ่นเดิม บางคนได้ขายที่ดินไปก่อนที่จะย้ายมา หรือจำนองไว้แล้วปล่อยให้หลุดมือ รัฐบาลก็ช่วยซื้อหรือไถ่ถอนคืนให้ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเว้นการเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหารเป็นเวลาถึง ๕ ปีให้แก่ชาวจังหวัดตราด เป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้ชาวตราดกลับคืนมา
.
ในขณะที่รัฐบาลสยามรับมอบจังหวัดตราดคืนจากฝรั่งเศสนั้น เป็นเวลาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมชาวจังหวัดจันทบุรีและตราด ฉะนั้น ก่อนที่จะเสด็จกลับคืนสู่พระนคร เรือพระที่นั่งมหาจักรีจึงได้แวะที่จังหวัดตราดในเช้าวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ครั้นในเวลา ๑๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมพลเรือ ประทับเรือกลไฟที่ทหารเรือจัดถวาย มาถึงปากน้ำจังหวัดตราด แล่นไปตามลำน้ำโดยมีราษฎรโห่ร้องถวายพระพรตลอดสองฝั่งและแจวเรือตามเสด็จ
.
ณ พลับพลาที่ท่าเรือ มีพระสงฆ์ ๑๕๐ รูปถวายพระพรชัยมงคล และราษฎรมาเฝ้าอย่างล้นหลามด้วยความปิติยินดี พระบริรักษ์ภูธร (ปิ๋ว บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล มีข้อความตอนหนึ่งว่า
.
“....อันน้ำใจของประชาชนชาวเมืองตราด เมื่อได้แลเห็นพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเวลานี้ ความปิติยินดีก็เต็มตื้นเต็มอกไปทั่วหน้า พ้นวิสัยที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำให้ทรงทราบได้ว่า ความยินดีที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้มีแก่ชาวจังหวัดตราดสักเพียงใด ถ้าจะมีที่เปรียบได้ก็แต่ด้วยความยินดีของพระชาลีและนางกัณหา เมื่อได้กลับไปพบเห็นพระเวสสันดรและนางมัทรี...”
.
พระพุทธเจ้าหลวงมีดำรัสตอบ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
.
“...ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเรา ถ้อยคำซึ่งเจ้าทั้งหลายได้มอบฉันทะให้กล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้ เป็นที่จับใจอย่างยิ่ง สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากเขตแดนอันเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่ แลเมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลาย อันเป็นที่รักใคร่คุ้นเคยของเรา ต้องได้รับความเปลี่ยนแปลง อันประกอบไปด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อย ย่อมมีความเสร้าสลดใจเป็นอันมาก
.
เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยที่เรามารวมอยู่กันอีก จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่มาเห็นเมืองนี้แลเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใด ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลง แลเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่า การทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืดยาวสืบไป
.
เจ้าทั้งหลายผู้ที่ละทิ้งภูมิลำเนา จะได้กลับเข้ามาถิ่นฐานแลที่ได้เว้นการทำมาหากิน จะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อน แลทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่า เราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตรจึงรีบมาหานั้น เป็นความคิดอันถูกต้องแล้ว ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้า ดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ ว่าเราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลาที่มีความสุข แลช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์...”
.
หลังจากทรงเสด็จเยี่ยมเยียนชาวตราดและจันทบุรีแล้ว ขวัญกำลังใจของประชาชนทั้ง ๒ จังหวัดก็กลับคืนมา มีพลังที่จะประกอบอาชีพสร้างบ้านสร้างเมืองต่อไป
.
เครดิต : ประวัติศาสตร์ชาติไทย
.
(เครดิต ... Thai Tribune)
===================
#เพจภาพและเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ