
16/03/2025
2 วันที่แล้ว เป็นเทศกาลโฮลีของอินเดีย คนไทยไม่น้อยนิยมไปร่วมเล่นสาดสีกับเขาด้วย ...
ในอดีตจะเป็นเทศกาลของชนวรรณะศูทร แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมแพร่หลายไปสู่คนอินเดียทุกเพศวัย ทุกวรรณะ และทุกลัทธิศาสนา จนถูกจัดอันดับให้เป็นเทศกาลยอดนิยมอันดับ ๒ รองจาก Diwali เลยทีเดียว
กำหนดของเทศกาลในแต่ละปีตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (ปี ๒๕๖๖ จึงตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม)
โดยปกติแล้ววันแรกจะเป็นวันบูชาเทพ ซึ่งจะต้องทำพิธี Holika Dhahan มีการก่อกองไฟใหญ่บูชากันในชุมชน พอถึงวันที่สองจึงจะสนุกสนานกันด้วยการสาดสีใส่กัน
สำหรับพิธี Holika Dhahan นั้นมีตำนานเกี่ยวข้องสองสามเรื่อง แต่ที่รับรู้กันโดยมากก็คือ เรื่องของท้าวหิรัณยกศิปุ ที่ได้รับพรจากพระพรหมว่า เขาจะไม่ตายในบ้านหรือนอกบ้าน ไม่ตายในเวลากลางวันหรือกลางคืน ไม่ตายโดยน้ำมือมนุษย์หรือสัตว์ และไม่ตายด้วยอาวุธหรือมือเปล่า ดังนั้นเขาจึงคิดว่าตนเป็นอมตะแล้ว และอหังการเทียบตนกับมหาเทพ จึงประกาศให้ชาวเมืองบูชาตนเสมือนบูชาองค์พระวิษณุ แต่กลายเป็นว่าคนใกล้ตัวคือลูกชายที่ชื่อ ประลาดะ (Prahlada) ผู้ซึ่งเป็นบุตรที่สุริยเทพประทานมาให้ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งพ่อ เพราะอสูรน้อยประลาดะมีความภักดีต่อพระวิษณุอย่างแท้จริง
ท้าวหิรัณยกศิปุจึงโกรธและต้องการกำจัดลูกตนนี้ไปเสีย แต่จะฆ่าอย่างไรก็ไม่ตายพระวิษณุทรงคุ้มครอง จนในที่สุดนึกขึ้นมาได้ว่าน้องสาวของตนคือ นางโฮลีกา Holika ได้รับพรว่า อัคคีจะไม่สามารถเผาผลาญนางได้ ท้าวหิรัณยกศิปุจึงออกอุบายให้ นางโฮลีกา อุ้มอสูรน้อยประลาดะไว้บนตักท่ามกลางกองเพลิงที่โหมขึ้นเพื่อหวังฆ่าอสูรน้อย แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นเคย พระวิษณุทรงปกป้องอสูรน้อยอยู่เสมอ
หลังจากนั้นพระวิษณุก็ได้อวตารเป็นนรสิงห์มาปราบท้าวหิรัณยกศิปุ (นรสิงห์เป็นอวตารปางที่ ๔ ในนารายณ์ ๑๐ ปาง)
เรื่องราวในตำนานตอนนี้จึงเป็นที่มาของการทำพิธีบูชา Holika Dhahan พิธีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ว่า ความชั่วไม่มีวันอยู่เหนือความดีไปได้ เสมือนไฟที่ไม่สามารถเผาผลาญอสูรน้อยประลาดะได้ โดยชาวบ้านจะรวมตัวกันก่อกองไฟขึ้นในหมู่บ้าน นำเอาข้าวสาลีใหม่ใส่ในหม้อดิน สุมไว้ในกองฟืนนั้น หลังจากไฟเริ่มมอดลงแล้ว ก็นำเอาข้าวสาลีสุกหอมมาแบ่งปันกัน ลักษณะของข้าวที่สุกแล้วรวมถึงลักษณะของเปลวเพลิงที่ลุกโชน ยังใช้ทำนายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ในปีต่อไปอีกด้วย (เพราะเทศกาลนี้จัดขึ้นต้นฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นการเฉลิมฉลองเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกครั้งใหม่) ส่วนเถ้าจากกองไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ ถือว่าเป็นของมงคล ชาวบ้านจะนำเอาไปผสมไว้ในเตาไฟที่บ้านตน ให้เกิดควันไฟลอยไปทั่วบ้านเป็นเครื่องรางป้องกันโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนในครอบครัว
การสาดสียังมีอีกความเชื่อที่มาผสมผสานกันว่า พระกฤษณะแกล้งสาดสีใส่พระแม่ราธา เพื่อให้ผิวพระนางสีเข้มขึ้นเหมือนสีผิวขององค์กฤษณะ
ธรรมเนียมการเล่นสาดสีของชาวอินเดียนั้น ยังแสดงถึงมิตรภาพที่ไม่ลืมเลือน ดังนั้นเสื้อผ้าที่เลอะสีแล้ว มักเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ปีหน้า หน่อโพธิ์ มีแผนจะจัดไปเที่ยวเล่นสาดสีกันที่ราชสถานนะคะ ใครอยากไปสนุกกัน เตรียมล็อคเวลาไว้เลย และคอยติดตามเรานะคะ
#เทศกาลโฮลี #สาดสีอินเดีย
@ผู้ติดตาม