28/07/2018
แนวทางการขอวีซ่ามาทำงานในอเมริกา
โดย : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอส แอนเจลิส
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน2561 นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดการประชุมระดมสมองร่วมกับนางยุพินพักตร์ เตโชภาส ประธานหอการค้าไทยอเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนีย นางรอสลิน ปัทมคันธิน ทนายความที่ปรึกษาหอการค้าฯ นาง Carolyn Kim, Project Director และนางธุวดารา โกลด์แมน เจ้าหน้าที่จากองค์กร Asian American Advancing Justice (AAAJ) และเจ้าของร้านอาหารไทยในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อศึกษาแนวทางการตรวจลงตราและแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานของร้านอาหารไทย โดยเฉพาะอาชีพพ่อครัวแม่ครัว สรุปได้ดังนี้
แรงงานทั่วไป (รวมถึงพ่อครัวแม่ครัว)
1.1 EB-3 (Permanent Workers – Skilled Workers, Professionals, and Unskilled Workers) : เป็นการตรวจลงตราสำหรับลูกจ้าง (โดยมีนายจ้างเป็นผู้ยื่นขอให้) เพื่อเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ (employment-based immigrant visa) และสามารถขอมีถิ่นพำนักถาวร (permanent resident) หรือขอใบเขียวในสหรัฐฯ ได้ กล่าวคือ
• นายจ้างจะต้องเป็นผู้สนับสนุน (sponsor) และยื่นหลักฐานทางบัญชีแสดงผลประกอบการของร้านที่มีกำไรสุทธิมากพอจะจ่ายเงินเดือนตลอดทั้งปีให้แก่ลูกจ้าง (ยกตัวอย่างเช่น หากพ่อครัวแม่ครัวได้ค่าจ้างเดือนละ2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ร้านอาหารจะต้องมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปีละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงจะสามารถสมัครขอรับการตรวจลงตรา EB-3 ให้พ่อครัวแม่ครัวจากประเทศไทยได้ 1 คน พร้อมผู้ติดตาม)
• ลูกจ้างอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพ (จบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า) แรงงานฝีมือ (มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปี) หรือแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่สามารถหาได้ในสหรัฐฯ (ต้องเป็นลูกจ้างประจำ) ก็ได้
2. ผู้เชี่ยวชาญ
2.1 E-1 (Treaty Traders) : เป็นการตรวจลงตราสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐฯ พ.ศ.2511 (Treaty of Amity and Economic Relations between the Kingdom of Thailand and the U.S.A, 1968) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคี กล่าวคือ
• นายจ้างต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่จะค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ในปริมาณมาก (substantial trade / principal trade)
• ลูกจ้างจะต้องมีสัญชาติเดียวกับนายจ้าง (สัญชาติไทย) และต้องอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการ/ผู้บริหาร หรือในตำแหน่งอื่นที่มีคุณสมบัติ (ทักษะและความเชี่ยวชาญ) พิเศษ
2.2 E-2 (Treaty Investors) : มีที่มาเช่นเดียวกับข้อ2.1
• นายจ้างต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่จะนำเงินมาลงทุนในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก (substantial amount of capital) และมีกรรมสิทธิ์ในธุรกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
• ลูกจ้างจะต้องมีสัญชาติเดียวกับนายจ้าง (สัญชาติไทย) และต้องอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการ/ผู้บริหาร หรือในตำแหน่งอื่นที่มีคุณสมบัติพิเศษ
2.3 H-1B (Specialty Occupations) : เป็นการตรวจลงตราสำหรับลูกจ้าง ซึ่งจะออกให้แก่แรงงานที่มีทักษะพิเศษโดยเฉพาะในสาขาที่สหรัฐฯ ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ (high skilled labor) ที่มาทำงานเฉพาะทางในสาขาอาชีพที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเสริม อาทิ วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สาธารณสุขศาสตร์ ชีวเทคโนโลยี การศึกษา และธุรกิจพิเศษ เป็นต้น โดยมีโควต้าประมาณ 65,000 – 85,000 คน ต่อปี
• ลูกจ้างจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า ในสาขาเฉพาะด้าน
ทั้งนี้ เจ้าของกิจการร้านอาหารไทย ผู้ประกอบการ และผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์การขอรับการตรวจลงตราสำหรับคนไทยที่ต้องการไปทำงานในสหรัฐฯ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ (U.S. Citizenship and Immigration Services – USCIS) https://www.uscis.gov/working-united-states/working-us หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาโทร.0993686663
ที่มา SiamtownUS