23/11/2019
สาระดีมากสำหรับนักดำน้ำทุกคน
พอดีวันก่อนได้คุยกับคุณ Ben Reymenants ซึ่งเป็นนักดำน้ำแบบ technical ตัวพ่อ ถึงเรื่องการรักษาตัวให้รอดจากการเป็น DCS เลยอยากเอาความรู้มาแชร์กัน
การเป็น DCS หรือ bend คือการป่วยจากความดัน ซึ่งมันจะมาเยี่ยมเยียนเมื่อร่างกายของเราอิ่มไปด้วยก๊าซจนถึงจุดนึงที่มันเปลี่ยนตัวกลายเป็นฟองอากาศจากความดันที่ลดลง ซึ่งถ้าเป็นนักดำน้ำที่ผ่านการเรียนคอร์สมาถูกต้องแล้ว ควรจะรู้จักคำนี้กันเป็นอย่างดี ถ้าหากใครสงสัยเรื่องของ DCS ให้โทรกลับไปถามครูสอนดำน้ำของตัวเองด่วนๆ
คุณ Ben ที่ดำน้ำ technical แบบฮาร์ดคอร์มาต่อเนื่องเกือบ 20 ปี แต่ไม่เคยเป็น DCS เลยในชีวิต ให้แนวทางการปฏิบัติตัวของเค้า (ซึ่งบางข้อก็สุดโต่งมากๆ) ไว้ว่า
1. ดื่มน้ำให้เยอะ
คุณ Ben จะดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 1 ลิตรก่อนลงดำน้ำทุกไดฟ์
2. ใช้ dive computer ที่ตั้งค่า gradient factor ได้
ตามปกติแล้ว dive computer จะคำนวณและให้เวลาในแต่ละความลึกด้วยสูตรสำเร็จของแต่ละยี่ห้อ ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้ค่าจากสูตรของ Baumann บวกโน่นนั่นนี่นิดหน่อยทำให้แต่ละยี่ห้อต่างกันไป ซึ่งก็เหมือนกับบะหมี่สำเร็จรูปที่ไม่เคยบอกว่าเค้าใช้วัตถุดิบอะไรบ้างในการปรุง
แต่ก็มี dive computer บางยี่ห้อ ที่อนุญาตให้เราเลือกส่วนผสมในการคำนวณเอง ซึ่งแต่ละส่วนผสมนี้จะให้เวลาที่ต่างกัน การตั้งส่วนผสมแต่ละแบบขึ้นกับร่างกายและวัตถุประสงค์ของการดำน้ำ สำหรับผู้ที่สนใจเรื่อง gradient factor อย่างละเอียด เราแนะนำให้ไปหาคอร์สต่อเนื่องทาง technical diving อย่าพยายามตั้งค่านี้ด้วยตัวเองโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้โดยเด็ดขาด ถ้าใครไม่รู้ว่า gradient factor คืออะไร จงเชื่อมั่นใน dive computer ของตัวเอง ทุกยี่ห้อปลอดภัยเหมือนกัน
สำหรับคุณ Ben นั้นใช้ dive computer หลายตัว (พกลงไปมากกว่า 1) ตัวที่ตั้งค่าได้ เค้าจะเลือกใช้ค่า gradient factor ที่ 70/70 (ซึ่งเรียกว่า conservative มากพอควร)
3. พยายามไม่ติด decom
ถ้าหากต้องดำนานขึ้น หรือลึกขึ้น ให้ใช้อากาศ Nitrox ตามเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสม หรือถ้าหากจำเป็น ก็พกถังออกซิเจน 100% ถังเล็กไปสำหรับใช้แก้ decom ที่ความลึก 6 เมตรสำหรับการใช้อากาศ mixed พิเศษรวมไปถีงการใช้ออกซิเจน 100% มีอันตรายร้ายแรงที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียด ผู้ที่ต้องการใช้ควรไปลงเรียนคอร์สเพิ่มเติมที่เหมาะสม
4. ทำ safety stop 5 นาที
เมื่อจบไดฟ์ก่อนจะกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ ตามหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันดำน้ำส่วนใหญ่จะให้หยุดพักน้ำที่ 5 เมตร อย่างน้อย 3 นาทีเพื่อความปลอดภัย แต่คุณ Ben ของเราเลือกที่จะหยุดอย่างน้อย 5 นาทีทุกไดฟ์
5. ขึ้นสู่ผิวน้ำให้ช้า
กฏเรื่องของความเร็วในการลอยตัวขึ้น แตกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน dive computer มีฟังก์ชั่นเตือนเมื่อลอยตัวเร็วเกินไป ซึ่งหลายคนมักจะลืมดูเรื่องนี้เวลาดำน้ำ คุณ Ben มีแนวทางส่วนตัวเพิ่มเติมขึ้นไปอีกคือจากความลึกที่ทำ safety stop ใช้เวลาอย่างน้อย 1 นาทีในการลอยตัวกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ (ความเร็วที่ปลอดภัยตามปกติคือควรใช้เวลาประมาณครึ่งนาที)
6. ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรกหลังดำน้ำ ไม่ทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็น DCS
ร่างกายที่มีก๊าซละลายอยู่แน่นจากการดำน้ำ เมื่อขึ้นถึงผิวน้ำความดันที่น้อยลงจะช่วยเร่งให้เกิดการคายก๊าซที่สะสมอยู่ทันที การคายก๊าซตามปกติที่ปลอดภัยจะออกมากับลมหายใจของเรา แต่ถ้าหากมีกิจกรรมเร่ง ก๊าซอาจจะโดนผลักให้กลายเป็นฟองอากาศในพื้นที่ที่เราไม่ต้องการได้ ซึ่งนั่นคือต้นเหตุของ DCS
ช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงแรกนี้จึงสำคัญที่สุด เราจึงควรงดกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง อย่างเช่น
- การออกแรงหนักๆ เช่น การปีนบันไดพร้อมอุปกรณ์ การว่ายน้ำอย่างหนักกลับเรือ หรือ กลับเข้าฝั่ง
- การอาบน้ำร้อนจัดๆ
- การนอนตากแดด หรือไปอยู่ในพื้นที่ร้อนๆ อุณหภูมิสูง
- กาแฟ, บุหรี่, และแอลกอฮอล์
คุณ Ben คือนักดำน้ำ technical ที่เป็นตัวท็อปของโลก นอกจากทำการสอนดำลึก ดำถ้ำ ดำติดดีคอม ดำด้วย rebreather และอื่นๆ มากมายแล้ว เค้ายังเคยทำงานเป็นผู้ควบคุมห้องปรับความดันที่ใช้รักษาโรค DCS จากการดำน้ำ และยังเป็นหนึ่งในทีมดำน้ำที่เข้าไปช่วยเด็กๆ ทีมหมูป่าในภารกิจถ้ำหลวงที่เชียงรายอีกด้วย
/มีน
ป.ล. ในภาพคือพื้นทรายของหมู่เกาะสิมิลัน ความลึกประมาณ 30 เมตร นักดำน้ำในภาพกลับขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความปลอดภัยตามกติกาการพักน้ำที่เหมาะสม