RAFA - ผลัดใบ

RAFA - ผลัดใบ RAFA "ผลัดใบ" We just want to share the experiences we have. We hope these experiences would make landscape profession in Thailand rising in the future.
(3)

จากประสบการณ์ 25 ปี ในวงการภูมิสถาปัตยกรรมของไทย วันนี้ ระฟ้ายินดีแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ในวิชาชีพให้กับเหล่าภูมิสถาปนิก ทั้งรุ่นใหญ่ กลาง และเล็ก ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆกัน

“เรื่องที่จะมาเล่าให้ฟังทั้ง 10 เรื่องนี้ มันไม่ได้บอกสรรพคุณว่า เราบินได้ หรือเราเจ๋งตรงไหน เราแค่อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ในมุมต่างๆที่เรามีให้ทุกคนได้รู้…มันอาจจะไม่สนุกเหมือน Indiana Jones หรือ Star Wars แต่มันอาจจ

ะเป็น Forest Gump ก็ได้นะ” ชัยรัตน์ สุระจรัส / เลิศฤทธิ์ นิธิชัยโย

โปรดติดตาม ทั้ง 10 เรื่องราวที่พวกเรา "ชาวระฟ้า” พร้อมเปิดสู่สาธารณะ เรามุ่งหวังว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่วงการภูมิสถาปัตยกรรมของไทย ให้พัฒนาก้าวไกลต่อไปในอนาคต

From 25-year of experiences in Thai landscape architectural profession, today RAFA is willing to share our journey in this profession to senior, sophomore and junior landscape architects. We hope that these stories will enable readers to grow and learn together with us.

“These 10 stories do not describe that we can fly or how good we are. Though stories from our perspectives might not be as fun as Indiana Jones or Star Wars…but it might turn to be a Forest Gump!”Chairatana Surajaras / Lertrit Nithichaiyo

Let’s keep your eyes on all ten stories which RAFA is ready to open to the public.

24/02/2017
29/12/2016

ระฟ้าผลัดใบ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามและให้กำลังใจมาตลอดปี 2559
หวังว่าเรื่องราวและประสบการณ์จะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนไม่มากก็น้อย

สวัสดีปีใหม่ 2560 ครับ
"ระฟ้า-ผลัดใบ"

ระฟ้า...ผลัดใบ (ตอนจบ)Roots (หยั่งราก)เรื่องราวของต้นไม้ที่ชื่อ “ระฟ้า” ได้ดำเนินบนเส้นทางของการประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตย...
27/12/2016

ระฟ้า...ผลัดใบ (ตอนจบ)

Roots (หยั่งราก)

เรื่องราวของต้นไม้ที่ชื่อ “ระฟ้า” ได้ดำเนินบนเส้นทางของการประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมมายาวไกล จากเมล็ดที่ค่อยๆเติบโต ออกดอก ขยายผลไปมากมาย ผ่านทั้งฝนและพายุซัด และยังยืนอยู่ด้วย “ใจรัก” จนวันนี้

“สำหรับผม...อาชีพนี้มันมีอะไรที่มากไปกว่าการออกแบบ” พี่ชัยรัตน์เริ่มเล่าให้เราฟัง...

ครั้งหนึ่ง...มีสถาปนิกชวนผมไปร่วมออกแบบศูนย์ประชุมนานาชาติที่ภูเก็ต เขาให้ผมดูภาพถ่าย Site ซึ่งอยู่กลางแหลมริมชายหาดที่สวยมากๆ และบอกกับผมว่า “อาคารหลังนี้จะต้องเท่ห์มากๆ ถ้าใครนั่งเครื่องบินมาภูเก็ตแล้วมองลงมา จะต้องเห็นความยิ่งใหญ่ของอาคารริมทะเลหลังนี้”

แต่ในใจผมกลับไม่คิดเช่นนั้น จึงได้บอกไปว่า “ถ้าเรานำเสนองานด้วยวิธีคิดที่เอาตัวเองเป็นใหญ่แบบนี้นะ เราจะไม่มีวันได้ทำงานนี้หรอก” ในความคิดของผม อาคารหลังนี้ควรจะถ่อมตนที่สุด ไม่มีใครมองเห็นมันเลย งานที่ออกมาจึงต้องดูน้อยๆและนิ่งที่สุดเพื่อให้เข้ากับธรรมชาติ จนเมื่อเดินเข้าไปข้างในแล้ว ผู้คนจึงจะเห็นความยิ่งใหญ่ของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมัน”

ผมว่านี่แหละคืองานของภูมิสถาปนิก...

ในอาชีพนี้...มีหลายครั้งที่การออกแบบต้องตั้งต้นจากพื้นที่ว่างเปล่า ในที่นี้...นักออกแบบจึงต้องใส่ “แว่นตาแห่งจินตนาการ” และเนรมิตภาพฝันทุกอย่างขึ้นมาในหัวสมอง แต่บางครั้งเราก็กลับได้พื้นที่ที่มันเสียไปแล้ว เละเทะไปแล้วก็มี ดังนั้นภูมิสถาปนิกในสถานการณ์นี้จึงต้องสร้างภาพจำลองของพื้นที่นั้นๆขึ้นมา และ “ลด+ทอน” บางสิ่งบางอย่างออกไปจน “พอเหมาะพอดี” ทั้งหมดนี้มันคือ Simulation ในม่านตาของภูมิสถาปนิกที่ลูกค้าและคนอื่นๆไม่อาจรู้เลยว่าเรากำลังมองเห็นอะไรอยู่ ฉะนั้น เราจึงมีหน้าที่ที่จะถ่ายทอดภาพๆนั้นออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อสื่อสารให้คนอื่นๆเข้าใจและรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดตามมา

ทั้งหมดนี้มันบอกเราว่า...นักออกแบบนั้นใส่ “แว่นตา” ที่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะเขาสามารถมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น คนทั่วไปอาจมองว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งที่นักออกแบบมองเห็นคือ มันสามารถเป็นได้มากกว่านั้น หรือในบางครั้ง...มันอาจไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ ถ้านั่นคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับที่ตรงนั้น...

การเดินทางของวิชาชีพภูมิสถาปนิก...

จาก Blooming ซึ่งเป็นตอนแรกของ “ระฟ้า ผลัดใบ” มาจนถึง Roots ในตอนสุดท้ายนี้ เราได้เห็นการเติบโตของวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมและขอบเขตของวิชาชีพนี้ในประเทศไทยที่แผ่ขยายออกไปไกลกว่าเดิมมาก ทุกวันนี้ สังคมวงกว้างเริ่มจะเข้าใจแล้วว่าการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแต่เรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่มันยังครอบคลุมถึงการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนด้วย การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในยุคนี้จึงไม่หยุดอยู่เพียงสามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างดี แต่ภูมิสถาปนิกยังต้องตระหนักถึงหน้าที่สำคัญและโอกาสในการมีส่วนร่วมสร้างสิ่งดีๆให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อจบมาใหม่ๆ มุมคิดของเราก็มักจะมีแต่ผู้ออกแบบกับลูกค้า และหลายๆคนก็อาจยังติดอยู่กับรูปลักษณ์ที่หวือหวา ซึ่งนั่นเป็นเพียงกับดักทางความคิด แต่จริงๆแล้วตัวตนของวิชาชีพนี้มันมากไปกว่านั้น มันเป็นอาชีพที่ทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เด็กรุ่นใหม่จึงต้องมาผ่านแบบฝึกหัดของการฝึกมองให้ใหญ่ มองให้กว้าง เพราะผลงานที่ทำออกมาทุกชิ้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมในหลายๆระดับทั้งสิ้น

อยากจะฝากถึงน้องๆว่า....ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไป ให้คิดถามตัวเองก่อนเสมอว่าเราสามารถทำอะไรให้กับโลกและสังคมได้บ้าง และหากพบอุปสรรคในการทำงาน ก็อย่าได้ท้อถอย จงภูมิใจว่าสิ่งที่เราพยายามนำเสนอไป มันจะไม่สูญเปล่า แม้ว่ามันอาจจะยังไม่ส่งผลในทันที แต่สิ่งดีๆและการเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆเกิดขึ้นได้เสมอ

ร่วมสร้างและพัฒนาวิชาชีพ...

ที่ผ่านมา...ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วมสร้างและพัฒนาเพื่อให้ฐานของวิชาชีพนี้มั่นคง หยั่งรากลึก และขยายวงกว้างออกไป ผลงานการออกแบบของภูมิสถาปนิกนับเป็นสื่อกลางสำคัญที่จะสะท้อนบทบาทของวิชาชีพนี้ต่อสังคม จึงถือได้ว่าภูมิสถาปนิกทุกคนมีส่วนช่วยกันกรุยทางให้สังคมรับรู้ว่าผลกระทบจากการออกแบบมันมีมากไปกว่าที่พวกเขาเคยคิด

ภาควิชาชีพและภาควิชาการสามารถเกื้อกูลและเติมเต็มช่องว่างทางความรู้กันได้ รวมทั้งยังสามารถช่วยกันสร้างคนที่มีคุณภาพ โดยการรับไม้ต่อจากภาคการศึกษา ดูแลบ่มเพาะภูมิสถาปนิกน้อยๆในช่วงเวลาที่อยู่กับเราให้ดีที่สุด เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปเป็นภูมิสถาปนิกที่แข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

บทสรุปปิดฉาก ระฟ้า ผลัดใบ คงจบลงด้วยคำอธิบายว่า...ทำไมเราถึงต้องเหนื่อยขนาดนี้ ทั้งๆที่ชีวิตมีตัวเลือกอื่น...

“ภูมิสถาปนิกเป็นอาชีพที่ไม่รวยนะ แต่ทำแล้วมีความสุข... มันเป็นความสุขที่เกิดจากการสร้างสิ่งดีๆให้สังคม สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้...”

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม “ระฟ้า...ผลัดใบ” มาโดยตลอด

CO2 Ep.3/3ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 3)25 ปี ที่พี่ชัยรัตน์และพี่อู๋ เปิดบริษัทร่วมกันมา มีทะเลาะกันบ้างมั้ย?“เ...
22/12/2016

CO2 Ep.3/3
ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 3)

25 ปี ที่พี่ชัยรัตน์และพี่อู๋ เปิดบริษัทร่วมกันมา มีทะเลาะกันบ้างมั้ย?

“เรารักกันจะตายไป (55555)”

พี่ชัยรัตน์เล่าว่า “มีบางวันที่เราหมั่นเขี้ยวกัน เราก็ไม่ได้คุยกันก็มี ผมรู้แต่ว่าอู๋ไม่โกงผมแน่ ผมไม่โกงอู๋แน่ อู๋ไม่เคยทำอะไรที่ไม่ดี เพียงแต่เราคิดเห็นไม่ตรงกัน แค่เรามีวิธีแก้ปัญหาคนละแบบ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเขาแก้ปัญหาได้และไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรอก ก็ให้เขาทำไปเถอะ”

ต้นทุนของการทำงาน...

การที่ระฟ้าได้รับการเกื้อกูลจากพี่เพื่อนๆในวงการตลอดมา นับเป็นต้นทุนในการทำงานที่ดีมากๆ ความกรุณาจากพี่ๆที่เราได้รับนั้น ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นมาผลจากการที่เราตั้งใจทำงาน จริงจังกับวิชาชีพ ทำดีและไม่คิดร้ายกับใคร จึงทำให้บริษัทมีงานเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ระฟ้าไม่เคยยกเลิกงานแบบคว่ำกระดานกับลูกค้ารายไหนเลย ถึงจะมี Conflict มากอย่างไร เราก็จะพยายามจบงานให้ได้ในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างบอบช้ำน้อยสุด ถ้าลูกค้าแรงมา ผมก็จะไม่แรง ผมจะพูดดี พูดนิ่มๆ อธิบายให้เขาฟัง และพยายามประคับประคองสถานการณ์ไปให้ได้

ว่ากันตามจริงอาชีพภูมิสถาปนิกก็ไม่ได้โก้หรูอะไร เราเป็นเพียงตัวเล็กๆคนหนึ่งในกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด แต่สำหรับผม (ชัยรัตน์) มันเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เพราะลูกค้าให้ความสำคัญกับเรา เขาเชื่อมั่นในตัวเรา เขาจึงรอที่จะฟังเราพูด แต่นั่นก็หมายความว่าคุณจะต้อง Perform ตัวเองให้เขาเชื่อมั่นด้วย ซึ่งบารมีที่ว่านี้มาจากประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมมานาน

เวลาจะคุยกับลูกค้าคุณต้องมองตาเค้า ให้เขารับรู้ว่าเขาเชื่อเราได้นะ คุณต้องแต่งตัวดี ต้องตัวหอม ถ้าคุณแต่งตัวไม่ดี มีกลิ่นตัว หน้ามันๆ คอเสื้อยับๆ พูดแล้วมีกลิ่นปาก สักพักลูกค้าก็จะเริ่มถอย และถ้าคุณส่งงานลูกค้าแล้วใช้กระดาษยับๆ ม้วนๆ มีรอยขีดฆ่าในงาน หรือแสดงท่าทางที่ไม่เป็น Professional คุณจะโดนตัดแต้มทันที

ลูกค้าเขามาหาเรา เพราะเขารู้สึกว่าเขารู้น้อยกว่าเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่เขารู้สึกว่าเขารู้มากกว่าแล้ว เขาก็จะเลิกจ้างเรา จากสถิติที่ผ่านมา...สัญญาหลายอันที่เราถูกเลิกจ้างไปก็มีต้นเหตุมาจากความไม่เชื่อมั่นนี่แหละ มีบางครั้งที่ผมรู้ว่าลูกน้องให้ข้อมูลผิดพลาดในที่ประชุม ซึ่งผมยังไม่สามารถที่จะพูดหักลำได้ทันทีในที่ประชุมนั้น ปรากฏว่าในภายหลังกลับส่งผลกระทบถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ซึ่งส่งผลเสียหายมากต่อบริษัท

พี่ชัยรัตน์และพี่อู๋ตบท้ายเรื่องราวทั้งหมดด้วยคำพูดที่ว่า... “วิชาชีพนี้มันต้องการชั่วโมงบิน มันไม่เหมือนวิชาชีพอื่นๆที่อาจจะอ่านหนังสือหรือหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตเอาแล้วไปสอบได้ แต่อาชีพนี้มันต้อง “ปฏิบัติ” อย่างเดียวเท่านั้น พูดสั้นๆก็คือ วิชาชีพนี้ไม่มีทางลัด!”

“เมื่อคุณจบมา ถึงคุณจะเก่งและรวยมาจากไหน ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถเปิดออฟฟิศแล้วประสบความสำเร็จได้ในชั่วพริบตา ยังไงๆคุณก็จะต้องมาผ่านด่านของการเรียนรู้และฝ่าฟันความยากลำบากไปอยู่ดี สรุปอีกที...ว่าเส้นทางการประกอบอาชีพนี้ มันไม่มีทางลัด”

ติดตามเรื่องราวตอนต่อไปได้ที่ "RAFA - ผลัดใบ"

CO2 Ep.2/3ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 2)เรื่องการหาคนดูจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในการทำบริษัท - จะทำอย่างไรให้...
20/12/2016

CO2 Ep.2/3
ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ (ตอนที่ 2)

เรื่องการหาคนดูจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในการทำบริษัท - จะทำอย่างไรให้ได้คนดีมีฝีมือมาช่วยงานเรา

ในช่วงแรกของการทำงานที่ระฟ้า น้องๆที่บริษัทก็ยังเรียกได้ว่าเป็นผู้ช่วย งานทุกอย่างจึงออกมาจากเราสองคนเป็นหลัก จะว่าไปก็เป็นวิธีเดียวกันกับ Great Designer ที่มักจะบริหารออฟฟิศแบบโลกหมุนรอบตัวเรา และลูกน้องก็มีหน้าที่ทำตามที่บอก...

แต่ต่อมา...วิธีคิดของเราทั้งคู่ได้เปลี่ยนไป เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การเป็นภูมิสถาปนิกนั้นไม่จำเป็นจะต้องเก่งอยู่เพียงเรื่องเดียว ความเก่งมันมีได้หลายอย่าง และคนๆหนึ่งก็สามารถเก่งแบบเฉพาะทางได้ บางคนเก่งออกแบบ เก่ง Presentation เก่งเคลียร์ Detail ดังนั้น...ถ้าเราสามารถทำให้คนเหล่านี้ทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมุ่งหาแต่คนที่เก่งรอบด้านในตัวคนเดียว

แนวคิดที่เปลี่ยนไปนี้มีผลต่อการเลือกคนเข้ามาทำงานของระฟ้ามาก คือคุณอาจจะไม่จำเป็นต้อง Design เป็นเลิศ แต่คุณต้องรู้ว่าคุณทำอะไรได้ดี แล้วเราก็พยายามจะดึงสิ่งนั้นของคุณออกมาในการทำงานร่วมกัน เวลาที่เราจะรับใคร เราสองคนจะคุยกันว่าคนๆนั้นมีศักยภาพที่จะไปต่อได้มั้ย

ปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่าบริษัทออกแบบมีตัวเลือกเยอะขึ้นมาก มีคนที่จบปริญญาตรี Landscape มาจาก 8 สถาบัน ฉะนั้น เราก็เลือกได้มากขึ้น ระฟ้าจะสนใจคนที่ออกแบบได้ค่อนข้างดี อาจจะไม่ต้องเลิศ แต่ทัศนคติและแววตานั้นสำคัญ ว่าเขาพร้อมที่จะรับและเรียนรู้ได้มั้ย ถ้าเขามีศักยภาพพอ เราก็จะพยายามผลักส่วนนั้นออกมาให้เด่น และช่วยพัฒนาส่วนด้อยด้านอื่นๆให้ตีตื้นขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่าภูมิสถาปนิกคนหนึ่งต้องสามารถทำได้ครบทุกขั้นตอน

ก้าวสู่ระบบสตูดิโอ...

สมัยก่อนงานทุกชิ้น Drawing ทุกอัน จะต้องผ่านมือเราสองคน แต่เมื่อมีงานเยอะขึ้น เราก็จำเป็นจะต้องกระจายงานออกไป ดังนั้น ระบบสตูดิโอจึงเป็นระบบที่เหมาะกับการเติบโตของบริษัท

ด้วยระบบนี้ เราสองคนจึงได้ตัดสินใจที่จะถอยฉากออกมาในเรื่องการออกแบบ โดยเราทำหน้าที่ควบคุมภาพรวมและแนวคิดที่สำคัญๆ แล้วให้ Senior เป็นคนดูและจัดการในรายละเอียด ซึ่งอันที่จริงมันเป็นอะไรที่ปวดใจมากในระยะแรก เวลาที่เราเห็นงานออกมาแล้วมันไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่เราก็ต้องให้โอกาสน้องๆได้เลือกเดินในแนวทางของเขาบ้าง ถ้ามันจะสามารถไปถึงจุดหมายได้ดีเหมือนกัน

เหตุที่ตัดสินใจเดินทางนี้ก็เพราะคิดว่า ออฟฟิศจำเป็นจะต้องโต วิธีนี้ทำให้ระฟ้าสามารถโตพร้อมๆกันเป็นแผง เราจึงยอมให้แต่ละสตูดิโอมีอิสระในการคิดและการทำงานเป็นของตนเอง ที่จริง...เราสองคนก็ได้เรียนรู้ที่จะ Compromise แนวทางการออกแบบกันเอง ตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทแล้ว เพราะเรา (อู๋และชัยรัตน์) ก็ยังคิดต่างกัน

ในช่วงเวลาที่ถอยออกมาจากการออกแบบนั้น เราได้ทดลองถอยดูในหลายๆระยะ เราเคยลองถอยออกมาแบบสุดๆเลย คือดูแค่ภาพใหญ่เท่านั้น ก็พบว่าไม่ Work! เพราะมันทำให้ไม่มี Frame ของระฟ้าเลย Frame ที่ว่านี้ก็คือการควบคุมคุณภาพให้อยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานนั่นเอง ด้วยประสบการณ์ที่มีมานานทำให้เวลาเราเห็นแบบ เราจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าปัญหาอะไรน่าจะเกิดขึ้นตามมา

มาถึงตอนนี้ เราทั้งคู่สรุปได้แล้วว่า เราต้องกลับมาดูแลขั้นตอนการออกแบบใกล้ชิดมากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นใกล้จนเกินไป และถึงแม้ว่างานที่ออกมาจะไม่ได้แสดงออกถึง “ตัวตน” ของเราแล้วก็ตาม แต่อย่างน้อยๆผลงานที่ออกมาก็ต้องอยู่ในมาตรฐานที่เราตั้งเป้าไว้

การบริหารความหลากหลายของคน...

ที่จริง...คนทุกคนต่างมีตัวตนด้วยกันทั้งนั้น ตัวตนในการออกแบบก็เรื่องหนึ่ง ตัวตนของแต่ละคนก็อีกเรื่องหนึ่ง พนักงานในบริษัทจึงมีความแตกต่างหลากหลายที่สูงมาก ดังนั้นถ้าเราไปซีเรียสกับเรื่องนี้ เราก็จะปวดหัวไม่สิ้นสุด เพราะคนทุกคนไม่มีทางที่จะเหมือนกัน และที่สำคัญ ไม่มีทางเหมือนกับเรา

ระฟ้าใช้หลักคิดแบบ Work-oriented คือเอาผลงานเป็นที่ตั้ง ถ้าคุณทำงานที่รับผิดชอบได้ดีก็ไม่มีปัญหา วิธีการบริหารคนแบบนี้ในบริษัทออกแบบที่ทุกคนต่างเป็นปัจเจกสูง ช่วยประคับประคองให้บริษัทไม่เดินไปถึงขั้นแตกหัก...

โปรดติดตามตอนต่อไปของ Carbon dioxide (Ep.3/3) ได้ที่ RAFA – ผลัดใบ

CO2 Ep.1/3 (ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ ตอนที่ 1)ผมเชื่อมาตลอด...ว่าเมื่อสถาปนิกมีบริษัทเป็นของตนเอง สิ่งที่ท้าทายที่สุด...
14/12/2016

CO2 Ep.1/3
(ไม่ใช่ดีไซน์ แต่ก็ขาดไม่ได้ ตอนที่ 1)

ผมเชื่อมาตลอด...ว่าเมื่อสถาปนิกมีบริษัทเป็นของตนเอง สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการทำบริษัทก็คือ การทำงานที่เหมือนได้ปล่อยพลังความสามารถของตัวเองออกไป ฉะนั้น...การจะเปิดบริษัทได้ คุณจึงต้องมีความมั่นใจในตัวเองในระดับหนึ่งก่อน คุณต้องเชื่อ...ว่าคุณเอาอยู่นะ คุณมีสิ่งที่จะนำเสนอในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่นำเสนอ

แน่นอนว่า “การออกแบบ” ถือเป็นหัวใจหลักของบริษัทสถาปนิก จะเปิดบริษัททั้งทียังไงๆก็ต้องออกแบบได้อยู่แล้ว แต่จะทำได้ดีขนาดไหนและระดับไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่พอผมทำงานไปได้ระยะหนึ่งแล้วผมก็พบว่า ที่จริงยังมีส่วนอื่นๆ (นอกเหนือจากงานออกแบบ) ที่เราจะ “ไม่ให้ความสำคัญไม่ได้” อยู่อีกมาก ถ้าคุณต้องการทำให้บริษัทคุณยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว มันยังมีเรื่องอื่นๆอีกเยอะที่คุณจะต้องดูแล

ถ้าอธิบายเป็นรูปภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับว่ามุมมองของสถาปนิกตอนที่เริ่มทำงานใหม่ มักจะ Focus แคบๆไปที่เรื่องการออกแบบ แต่พอเปิดบริษัท คุณก็จะมีเรื่องอื่นๆที่ต้องคิดมากขึ้น แต่ความที่บริษัทยังเล็กและมีคนไม่มาก คนๆหนึ่งก็อาจต้องทำหน้าที่หลายอย่าง มุมมองของคนๆนั้นก็จะค่อยๆกว้างมากขึ้น ต่อมาเมื่อบริษัทเติบโตมากขึ้น มุมนี้ก็จะค่อยๆบานออก ในขณะเดียวกันคุณก็จะมีคนในองค์กรมากขึ้นที่ต้องประสานงาน ภาระงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบก็เพิ่มตามไปด้วย ยิ่งบริษัทใหญ่และเปิดมานานเท่าไหร่ มุมมองและหน้าที่เหล่านี้ก็เพิ่มตาม จนกระทั่งทุกวันนี้จากมุมสามเหลี่ยมแคบๆได้ค่อยๆบานออกจนเกือบจะเป็น 180 องศาแล้ว...

พี่ชัยรัตน์เล่าว่า “สมัยก่อนถ้าใครมาคุยเรื่องบัญชี เรื่องภาษีกับผม ผมเดินหนีเลย เพราะผมไม่คิดว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ จนถึงขั้นที่ผู้ตรวจสอบบัญชี (ซึ่งเป็นญาติกัน) เคยเตือนผมมาว่า บริษัทจะทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ แต่ผมก็ยังไม่สนใจ”

ก่อนหน้านี้เราไม่มีนักบัญชีเป็นพนักงานประจำอยู่ที่บริษัท เพราะออฟฟิศส่วนใหญ่รวมทั้งระฟ้าในยุคแรกๆมักใช้วิธีการจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมาเคลียร์บัญชีตอนสิ้นปี แต่หลังจากที่เปิดออฟฟิศไปได้สักพักหนึ่งและเริ่มมีรายจ่ายมากขึ้น เราจึงตัดสินใจจ้างนักบัญชีมาทำงานประจำกับเรา

เราเคยถึงขั้นที่ไปจดทะเบียนเปิดอีกบริษัทหนึ่ง เพราะความคิดง่ายๆที่ว่า การกระจายรายได้จะทำให้ฐานการเสียภาษีของบริษัทลดลง แต่ปรากฏว่าปัญหามันกลับคูณสอง! จนกระทั่ง...รุ่นพี่สถาปนิกที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งมาถามผมว่า “นี่มึงทำอะไรของมึงอยู่เนี่ย…ทำแบบนี้ทำไม ผมไม่เห็นว่ามันจะดีตรงไหนเลย!”

แล้วเชื่อมั้ยว่าเราใช้เวลาแก้ไขปัญหาของบริษัทที่สองนี้อยู่นาน เพราะเมื่อคุณจดทะเบียนบริษัทแล้ว มันจะผูกพันยาวนานมาก และแม้ว่าคุณจะปิดบริษัทไปแล้ว แต่สรรพากรเค้าจะไม่ปิดตามไปกับคุณด้วย เค้าจะตามไล่รื้อย้อนหลังเลยว่าคุณเสียภาษีถูกต้องมั้ย แล้วด้วยความที่สมัยก่อนเราทำบัญชีไว้อย่างไม่มีระบบ ปัญหามันจึงไม่จบง่ายๆ บริษัทใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะเคลียร์ปัญหาเหล่านี้หมด และเราก็ได้บทเรียนใหญ่เลยว่า เราจะละเลยเรื่องการเงินอีกไม่ได้แล้ว

โปรดติดตามตอนต่อไปของ Carbon dioxide (Ep.2/3) ได้ที่ RAFA – ผลัดใบ

เบื้องหลัง...”ระฟ้า ผลัดใบ”หลังจากที่ Page ระฟ้าผลัดใบ เปิดตัวไปใน Facebook ได้ไม่นาน ชาวระฟ้าก็มักถูกใครต่อใครถามว่า “ร...
01/12/2016

เบื้องหลัง...”ระฟ้า ผลัดใบ”

หลังจากที่ Page ระฟ้าผลัดใบ เปิดตัวไปใน Facebook ได้ไม่นาน ชาวระฟ้าก็มักถูกใครต่อใครถามว่า “ระฟ้าผลัดใบ” คืออะไร... แล้วใครเป็นคนทำ...

ความคิดที่จะทำโปรเจคนี้เกิดขึ้นตอนที่ได้ฟังพี่ชัยรัตน์และพี่อู๋เล่าถึงประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในระหว่างที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เรื่องเล่าย้อนอดีตเหล่านี้มีหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน บางเรื่องก็ถึงกับอ้าปากค้างเพราะคาดไม่ถึง แต่พอฟังแล้วก็ทำให้เราเห็นภาพ ภูมิทัศน์ ของการทำงานในวิชาชีพนี้

เราจึงคิดกันว่า...ถ้าเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกแบ่งปันให้กับเพื่อนพี่น้องในวงวิชาชีพและสังคมวงกว้าง มันน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ไม่น้อย ทีมงาน “ระฟ้า ผลัดใบ” จึงได้ก่อตัวขึ้น โดยตั้งใจจะถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ 25 ปีของระฟ้าออกสู่สังคม

เพื่อให้สิ่งที่ถ่ายทอดออกมา “จริง” มากที่สุด เราจึงใช้วิธีการอัดเทปสัมภาษณ์พี่ๆทั้งสอง แล้วค่อยมาเรียบเรียงเขียนเป็นบทความในภายหลัง เดิมที...เราตั้งใจจะผลิตเพียง 10 ตอน แต่พอยิ่งคุยไปๆ เรื่องราวก็ยิ่งเยอะขึ้นๆจนต้องมาตัดแบ่งเป็นตอนย่อยๆเกือบ 20 ตอน จากโปรเจคเล็กๆในตอนต้น... ”ระฟ้า ผลัดใบ” จึงกลายเป็นงานไม่เล็กของทีมงานที่ต้องผลิตบทความกันอย่างต่อเนื่องทุก1-2 สัปดาห์ เรียกได้ว่างานชิ้นนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ใหม่ที่ทีมงานได้ก้าวเข้าไปสัมผัส

บทความทั้งหมดนี้ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราวการเจริญเติบโตของต้นไม้ต้นหนึ่งที่ชื่อ “ระฟ้า” ตั้งแต่แรกเริ่มจนเติบใหญ่ โดยเราหวังว่าประสบการณ์ที่ถูกเผยแพร่ผ่านตัวหนังสือนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อน เปิดมุมมอง และสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติวิชาชีพภูมิ
สถาปัตยกรรมให้กับผู้อ่านในวงวิชาชีพและผู้สนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องๆ(ว่าที่)ภูมิสถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงที่ยังอยู่ในวัยเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ทำงาน สำหรับรุ่นกลางซึ่งได้ปฏิบัติวิชาชีพมาระยะหนึ่ง และกำลังประสบปัญหาหรืออยู่ในจุดที่เป็นทางแยก เราก็หวังว่าพวกเขาจะได้ข้อคิดอะไรบ้างจากการอ่านเรื่องราวการฝ่าฟันกับอุปสรรคและวิกฤติการณ์ต่างๆที่พวกเขายังไม่เคยได้เจอ ส่วนพี่ๆที่เคยผ่านประสบการณ์มามากแล้ว เราก็หวังว่าโปรเจคนี้จะเป็นพื้นที่แบ่งปัน
ประสบการณ์และกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ติดตามเรื่องราวตอนต่อไปได้ที่ "RAFA - ผลัดใบ"

Photosynthesis Ep.3/3 (สังเคราะห์ เติบโต ตอนที่ 3)แม้ว่าการร่วมหุ้นกับโมเดอร์นฟอร์มและตั้งเป็น Xteria (ปัจจุบัน RAFA Ass...
17/11/2016

Photosynthesis Ep.3/3 (สังเคราะห์ เติบโต ตอนที่ 3)

แม้ว่าการร่วมหุ้นกับโมเดอร์นฟอร์มและตั้งเป็น Xteria (ปัจจุบัน RAFA Associaites) จะทำให้สัดส่วนของบริษัทเราเล็กลง และมีผลให้ความเป็นเจ้าของบริษัทที่แต่เดิมเราเคยมี 100 เปอร์เซ็นต์นั้นหายไปก็ตาม แต่ถ้ารวม Capital และ Goodwill ซึ่งก็คือชื่อเสียงและประสบการณ์ที่บริษัทเรามีในตอนนั้นเข้าไป มันกลับทำให้เงินของเราใหญ่ขึ้น ในขณะที่เงินที่ระฟ้ามีอยู่จริงมันเกือบจะเท่าเดิมเลย

Win-Win Condition!

ด้วยความที่โมเดอร์นฟอร์มเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายด้านและมีบริษัทในเครือที่หลากหลาย ดังนั้น การเข้าร่วมหุ้นกับระฟ้าจึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทได้

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ระฟ้าได้กลับมาคือระบบการทำงานและวางแผนที่เข้มแข็งมาก รายรับและรายจ่ายทุกรายการถูกนำเข้าระบบและเสียภาษีทั้งหมด แม้ว่าในปัจจุบัน อาจยังมีออฟฟิศออกแบบบางแห่งที่มีทางเลือกในการที่จะจ่ายภาษีหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อระฟ้าเลือกที่จะมีเพียงระบบเดียว ทำบัญชีเดียว เราจึงต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องเท่านั้น ซึ่งมันก็ทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจและมั่นใจได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในบริษัทสามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้ เรายังได้ความมั่นคงในเชิงธุรกิจมหาศาล หากเราจำเป็นจะต้องไปกู้ธนาคาร นั่นก็ไม่ยากเลย เพราะเรามีบริษัทยักษ์ใหญ่คอยค้ำอยู่ หรือหากเรามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เราก็จะมีผู้สนับสนุนทันที นี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ระฟ้าตัดสินใจก้าวไป ภายหลังประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินต้มยำกุ้ง ที่เราไม่อาจล่วงรู้สถานการณ์อะไรเลย และเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นบริษัทอาจก็ล้มพับไปได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปเราจะไม่เป็นอย่างนั้นอีก เพราะเรามีการวางแผนระยะยาวและมีระบบที่แข็งแรงและมีความมั่นคงสูง

หลายคนอาจมีคำถามว่า การรวมกับบริษัทใหญ่ทำให้เราเสียอิสระและตัวตนในฐานะที่เป็นบริษัทออกแบบหรือไม่...

ปกติแล้ว การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อาจมีผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินงานของบริษัทได้ เช่น บางบริษัทอาจต้องเปลี่ยนนโยบายและผันตัวกลายไปเป็นโรงงานผลิตแบบเพื่อสร้างรายได้ แต่ระฟ้าโชคดีที่โมเดอร์นฟอร์มให้เกียรติเรามาก และยินยอมให้เรามีตัวตนเป็นของตัวเองโดยเข้ามาปรับเปลี่ยนน้อยมาก ขอเพียงให้ระฟ้าเป็นบริษัทที่มีการดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล (Good Governance) และไม่ขาดทุนเท่านั้น เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและผลประกอบการรวมของบริษัทได้

พี่อู๋ย้ำว่า... การที่ระฟ้าตัดสินใจรวมกับโมเดอร์นฟอร์ม ไม่ใช่เพราะเราต้องการที่จะใหญ่ขึ้นนะ แต่เราต้องการความแข็งแกร่งที่แท้จริง เราเชื่อมั่นว่าระบบการจัดการบริษัทที่สามารถ Declare ได้ โปร่งใส และมีการจัดการอย่างเป็นระบบนั้นน่ะ ถูกต้องแล้ว มีหลายออฟฟิศที่เจ้าของต้องควักเงินส่วนตัวเพื่อให้ออฟฟิศทำงานไปได้ และบางออฟฟิศที่เจ้าของใช้จ่ายอย่างหรูหรา แต่ออฟฟิศกลับไม่มีเงิน
ฉะนั้นบทบาทของผู้บริหารระฟ้าจึงต้องเปลี่ยนไป เพราะมีภาระที่มากขึ้นในเรื่องการทำธุรกิจ การหางาน การสร้างรายได้และชื่อเสียง ดังนั้น ระฟ้าจึงตัดสินใจที่จะจัดการระบบภายในด้วยรูปแบบ Studio ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แต่ละ Unit ค่อนข้างมีอิสระในการทำงานออกแบบของตนเอง

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ระบบ แต่มันเปลี่ยนแปลงที่ตัวคนและวิธีคิดด้วย หากบริษัทใดต้องการมีการดำเนินการที่เป็นมืออาชีพ มีการลงทุนจริงๆ มันจึงต้องมีการออกแบบระบบที่จะมาจัดการให้การดำเนินงานเหล่านี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พี่อู๋จบท้ายด้วยการฉายภาพให้เราเห็นว่า ระฟ้าในยุคใหม่นี้แตกต่างกับตอนแรกเริ่มอย่างไรบ้าง...

“มันเหมือนในหนังเรื่อง Matrix เลย ที่พอเราเข้าไปในนั้นแล้วเราก็จะเห็นรหัส 0101010101 เต็มไปหมด รหัสพวกนี้มันทำให้เรามองเห็นเส้นทางของอนาคตที่อยู่ข้างหน้าและอดีตที่ผ่านมาได้หมดเลย ซึ่งก่อนหน้านี้เรามองไม่เห็นเลยนะ เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร อันที่จริง...ในทุกๆเรื่อง มันจะมี Sign บอกเหตุอยู่เสมอแหละ เพียงแต่เราต้องแปลให้ออกว่ามันบอกอะไรเราเท่านั้นเอง...”

ติดตามเรื่องราวตอนต่อไปของ "RAFA - ผลัดใบ" ได้ ทุกวันที่ 25 ของเดือน

โมเดอร์นฟอร์ม x ระฟ้า“ระฟ้า” ก้าวมาเป็นหนึ่งในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ได้อย่า...
15/11/2016

โมเดอร์นฟอร์ม x ระฟ้า

“ระฟ้า” ก้าวมาเป็นหนึ่งในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “บริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ได้อย่างไร...

พี่ชัยรัตน์และพี่อู๋เปิดใจเล่าถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทว่าเริ่มต้นมาจากการความสำเร็จในการออกแบบ Landscape ให้กับบ้านของผู้บริหารและสำนักงานหลายต่อหลายชิ้น จนกระทั่งโมเดอร์นฟอร์มกลายมาเป็นลูกค้า VIP ที่ใช้บริการของระฟ้าเป็นประจำ และผู้บริหารของทั้งสองบริษัทก็รู้จักและคบหากันมาเป็นเวลากว่าสิบปี...

“วันหนึ่ง...ในระหว่างที่ผมไปเที่ยวกับคุณทักษะ บุษยโภคะ และคุณชัชชัย ธรรมารุ่งเรือง สองผู้บริหารหลักของโมเดอร์นฟอร์ม และได้คุยกันเรื่องการทำธุรกิจ อยู่ๆก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ทำไมประเทศไทยจึงยังไม่มีตลาด Outdoor เฟอร์นิเจอร์เลย?” ณ ตอนนั้น ถ้าเราต้องการจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ภายนอกอาคาร เราจะเจอแต่เก้าอี้หินขัดกลมๆที่มีตามร้านขายศาลพระภูมิเท่านั้น มันจึงทำให้เรามองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจที่จะผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อมา Support งาน Landscape Design”

บทสนทนาในวันนั้น ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระฟ้า โดย RAFA Design และ RAFA Plus Architect ได้ตัดสินใจร่วมหุ้นกับบริษัทโมเดอร์นฟอร์มเพื่อเปิดบริษัทใหม่ที่มีชื่อว่า “Xteria” บริษัทนี้มีส่วนหนึ่งที่ผลิต นำเข้า และขายเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ภายนอกอาคาร และอีกส่วนหนึ่งก็ยังคงออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมตามเดิม โดยทั้งสามบริษัทถือหุ้นคนละส่วนภายใต้แบรนด์นี้

ก้าวสู่ยุคใหม่ของระฟ้า...

ต้องบอกว่าบทเรียนจากเหตุการณ์ซัดดัม มาจนถึงวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้เรารู้แน่ว่าเราจะทำแบบเดิมต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เราต้องจัดการระบบเสียใหม่ แต่ปัญหาคือ...เราจะตั้งต้นตรงไหนและอย่างไรดีล่ะ!

การร่วมหุ้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ประกอบกับความเป็นมหาชนที่ต้องมีการทำงานที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ทำให้ระฟ้าจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการออฟฟิศและการเงินใหม่ทั้งหมด ฉะนั้น...“จากที่เราเคยทำงานแบบร้านก๋วยเตี๋ยวมา 16 ปี ควักเงินจากกระเป๋าซ้ายมาเข้ากระเป๋าขวา โปะไปโปะมา เราจะทำอย่างนั้นต่อไปอีกไม่ได้แล้ว”

ในช่วงตั้งไข่นี้เองที่เราได้คนจากโมเดิร์นฟอร์มมาช่วย Set up ระบบทุกอย่างให้ มันทำให้เราเรียนรู้ว่าการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนเรื่องการตลาดและการเงินอย่างดีนั้นต้องทำอย่างไร ทุกเดือนเราต้องมีการประชุมบอร์ด มีการวางแผนตั้งเป้า มีวิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท รวมทั้งมีการตั้งกลยุทธ์เพื่อให้บริษัทประสบความสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้...เราจึงต้องเคลียร์เงินทุกบาททุกสตางค์ของบริษัทออกมา ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทก็คือโปรเจคที่เรามีอยู่ในมือทั้งหมด ทั้งที่เราวางบิลไปแล้วและที่เราวางแผนว่าจะหามาในอนาคต บริษัทต้องมีการคำนวณรายได้ต่อปี รวมทั้งคาดการณ์และวางแผนการหารายได้ในปีต่อไป นอกจากนี้ คำถามมากมายที่เราไม่เคยคิดกัน เช่นว่า เราไม่เคยตั้งเงินเดือนให้กับผู้บริหาร แล้วจริงๆมันควรจะเป็นเท่าไหร่ บริษัทควรจะต้องมีเงินเก็บมากน้อยแค่ไหน และปัจจุบันมีหนี้สินอยู่เท่าไหร่ ทุกอย่างจึงต้องถูกแจกแจงออกมาหมด

ในช่วงนั้น...พนักงานทุกคนต้องมาเรียนรู้ระบบการเงินใหม่ทั้งหมด ซึ่งนั่นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพวกเรา จากเดิมที่บริษัทเคยมีหลายบัญชี ซึ่งสะดวกต่อการโยกย้ายเงินไปบัญชีนั้นนี้ตามต้องการได้ แต่จากนี้ไปทั้งหมดต้องถูกยุบเหลือแค่บัญชีเดียว

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินอยู่หลายปี โดยเฉพาะใน 3 ปีแรก ถือเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เราแทบจะขยับทำอะไรไม่ได้เลย เพราะการเป็นหนึ่งในเครือบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างมีหลักการและเป็นระบบเพื่อให้ผู้ถือหุ้นไว้วางใจได้ ฉะนั้น บริษัทจึงต้องมีหน่วยตรวจสอบในหลายๆระดับคอยกำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปอย่างถูกต้องตลอดทุกขั้นตอน ทุกครั้งเมื่อมีรายรับเราจึงต้องนำเข้าระบบทันที การจะใช้จ่ายอะไรก็ตามต้องมีการตั้งงบล่วงหน้า และต้องสามารถชี้แจงเหตุและผลของการใช้เงินนั้นๆได้

กำเนิด RAFA Associates…

หลังจากที่บริษัท Xteria ดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีรายได้ไม่ตรงตามเป้า เนื่องจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีต้นทุนที่สูงมาก เราจึงตัดสินใจคืนแบรนด์นี้กลับไป และได้เปลี่ยนชื่อจาก Xteria มาเป็น RAFA Associates ซึ่งเป็นบริษัทถือหุ้น (Holding Company) ของบริษัทในเครือระฟ้าทั้งหมด ประกอบด้วย RAFA Design, RAFA +A และ RAFA Plus อื่นๆ ที่อาจมีต่อไปในอนาคต ปัจจุบันบริษัทโมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท RAFA Associates จำกัด

โปรดติดตามตอนต่อไปของ Photosynthesis (Ep.3/3) ได้ที่ RAFA – ผลัดใบ

“โมเดอร์นฟอร์มเคยคิดอยากทำ Outdoor เฟอร์นิเจอร์บ้างมั้ยครับพี่”“ถ้าคุณทำ...ผมเอา!”บทสนทนาเล็กๆที่จุดประกายการร่วมหุ้นของ...
08/11/2016

“โมเดอร์นฟอร์มเคยคิดอยากทำ Outdoor เฟอร์นิเจอร์บ้างมั้ยครับพี่”

“ถ้าคุณทำ...ผมเอา!”

บทสนทนาเล็กๆที่จุดประกายการร่วมหุ้นของ ระฟ้า กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โมเดอร์นฟอร์ม

โปรดติดตามตอนต่อไปของ Photosynthesis (Ep.2/2) ได้ที่ RAFA – ผลัดใบ

ระฟ้าผลัดใบ ตอนพิเศษ... “สวนของพ่อ”ก่อนหน้าที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ (ข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล) จะได้รับพระราชทานชื่...
28/10/2016

ระฟ้าผลัดใบ ตอนพิเศษ... “สวนของพ่อ”

ก่อนหน้าที่สวนสาธารณะแห่งใหม่ (ข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล) จะได้รับพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “สวนปทุมวนานุรักษ์ ส่วนที่ 2” นั้น สวนนี้มีชื่อเรียกกันภายในทีมออกแบบว่า “สวนของพ่อ”

แนวคิดในการออกแบบสวนแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามการพัฒนาของประเทศ

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นปอดสีเขียวให้กับเมืองแล้ว สวนแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ให้คนเมืองได้มาเรียนรู้และซึมซับถึงความสำคัญของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในเมือง ผ่านปรัชญาและแนวคิดจากโครงการในพระราชดำริ อาทิเช่น การบำบัดน้ำเสียจากคลองแสนแสบด้วยวิธีธรรมชาติ ตามหลักการโครงการในพระราชดำริน้ำดีไล่น้ำเสีย การสร้างบ่อรับน้ำเพื่อเป็นแก้มลิงให้กับโครงการ และการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ กรองฝุ่น และเพิ่มออกซิเจน เป็นต้น

องค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ น้ำ ดิน อากาศ ต้นไม้ และคน ได้ถูกนำมาสร้างเป็นเรื่องราวผ่านการแสดงงานศิลปะในลานต่างๆ ประกอบด้วย “ลานดิน” ที่หลอมรวมทรัพยากรดินหลากสีจากพื้นที่ต่างๆ “ลานป่าคนเมือง” ที่สะท้อนภาพปัจจุบันของป่าคอนกรีตในเมืองกรุง “ลานอัฒจันทร์" แสดงสัดส่วนพื้นที่เปิดโล่งในเขตต่างๆ และส่วน "ต้นไม้ของพ่อ" แสดงภาพสะท้อนของเมืองโดยรอบซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การซึมซับเรื่องราวเหล่านี้ผ่านการใช้สวนในชีวิตประจำวัน จะช่วยหล่อหลอมให้คนเมืองตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งช่วยยกระดับจิตสำนึกในการรักษา พัฒนา และปรับปรุงสภาพแวดล้อมอีกด้วย

อันที่จริงสวนนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จในส่วนแรก ตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2558 โดยปัจจุบันยังรอการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ แต่แม้ว่าสวนแห่งนี้จะไม่ทันได้เปิดใช้และถวายแด่พระองค์ท่าน แต่แนวคิดและทฤษฎีของพระองค์จะคงอยู่คู่กับ “สวนของพ่อ” นี้ตลอดไป และพสกนิกรของพระองค์ก็จะสามารถซึมซับปรัชญาเหล่านี้ได้เมื่อพวกเขามาใช้สวนแห่งนี้เสมอ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด

Photosynthesis Ep.1/3 (สังเคราะห์ เติบโต ตอนที่ 1)กำเนิด RAFA +A (ระฟ้า พลัส อาร์คิเต็ค) ความคิดนี้มันเริ่มต้นมาจากตอนที...
29/09/2016

Photosynthesis Ep.1/3 (สังเคราะห์ เติบโต ตอนที่ 1)

กำเนิด RAFA +A (ระฟ้า พลัส อาร์คิเต็ค)

ความคิดนี้มันเริ่มต้นมาจากตอนที่ทำ Planning โครงการต่างๆ หลายๆครั้งเรามักจะคิดว่า ถ้ามี Architect มาร่วมออกแบบกับเราตั้งแต่แรก แล้วสามารถออกแบบ Architecture ให้ไปในทิศทางที่เราอยากได้ คือมีจริตเดียวกันกับงาน Landscape มันก็คงจะดีนะ เพราะส่วนใหญ่สถาปนิก Outsource ที่เจ้าของโครงการไปจ้างมานั้น เขาก็มักจะมีสไตล์งานเป็นของตัวเอง มันจึงเป็นการยากที่เราจะไปมีอิทธิพลต่อความคิดของเขา หรือจะไปบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “เราอยากได้แบบนี้นะ” ซึ่งมันก็มีผลให้ภาพรวมของโครงการที่ออกมาไม่เป็นไปอย่างที่เราวางเอาไว้

อันที่จริงก่อนหน้านี้ระฟ้าก็มีงานออกแบบที่ทำร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆและพันธมิตรบริษัทสถาปนิกอยู่หลายงาน แต่ก็มีบางงานที่เราตัดสินใจกระโดดไปรับงานออกแบบสถาปัตยกรรมเองเลย ก็เพราะความต้องการที่จะให้งานภูมิสถาปัตยกรรมกับสถาปัตยกรรมผสานเป็นชิ้นเดียวกันนี่แหละ

จนมาถึงจังหวะที่ออฟฟิศเรามีโอกาสได้ทำโครงการใหญ่อย่าง Black Mountain ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมการวางผังโครงการ และมี Architecture เป็นพระเอกที่สำคัญของงานนี้ เราจึงคิดว่าถ้าระฟ้าสามารถรับงานออกแบบนี้ได้เองทั้ง 2 ส่วน มันน่าจะทำให้โครงการออกมาสมบูรณ์ได้

ในปีพ.ศ. 2549 เราจึงตัดสินใจชวนคุณอนุชา ตั้งศรีวิริยะกุล (พี่ชา) ซึ่งเป็นเพื่อนสถาปนิกรุ่นเดียวกันและก็เคยทำงานร่วมกันก่อนหน้านี้แล้วหลายงาน มาเปิดบริษัทสถาปนิกร่วมกันภายใต้ชื่อ RAFA +A หรือชื่อเต็มว่า “RAFA Plus Architect”

จากวันนั้นมา...ทั้ง RAFA Design ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม และ RAFA Plus Architect ที่รับออกแบบสถาปัตยกรรม ก็ทำงานร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตลอด เรามักจะปรากฏตัวไปเป็นคู่เสมอเวลาที่จะต้องไปรับงานจากลูกค้า และเราก็ออกตัวให้ลูกค้ารู้แต่แรกเลยว่า ระฟ้าสามารถรับทำงานออกแบบได้ทั้งสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งมันก็ทำให้เราสามารถรับงานได้ครอบคลุมมากขึ้น และภาพลักษณ์ของบริษัทก็ดูแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

ในการทำงานร่วมกันนั้น ทั้ง 2 บริษัทจะช่วยกันหางานเข้ามา ดังนั้น ถ้า +A มีงาน ก็จะส่งต่อให้อีกบริษัททำ Landscape และเช่นเดียวกัน ถ้า RAFA Design หางานได้ และลูกค้าต้องการทำ Architecture ด้วย เราก็ส่งต่อให้ +A เป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจาก RAFA Design เป็นบริษัทภูมิสถาปนิกที่เปิดมานานแล้ว เราจึงมีบริษัทสถาปนิกอื่นๆที่มาใช้บริการของเรานอกเหนือจาก +A ด้วยเช่นกัน

การที่เราทั้ง 3 คน (ทั้งพี่ชา พี่อู๋ และพี่ชัยรัตน์) เป็นคนที่ไม่ได้ยึดติดกับสไตล์ใดๆ เราจึงไม่ติดกับประเด็นที่ว่า ใครจะต้องเป็นผู้นำหรือเริ่มต้นโครงการก่อน “สำหรับเราแล้ว ไม่มีใครนำใคร - อะไรที่เป็นโอกาสและคิดว่าเราทำได้ เราก็ทำหมด” ที่ผ่านมาจึงมีหลายงานที่ภูมิสถาปนิกเป็นผู้เริ่มต้นวางผังก่อน แล้วสถาปนิกก็ไปแปลงเนื้อหาของงาน Landscape ให้กลายไปเป็นงานสถาปัตยกรรม และเช่นเดียวกัน ก็มีอีกหลายงานที่ทาง +A ได้เริ่มงานมาและมาให้เราออกแบบ Landscape ให้ ซึ่งเราก็จะเน้นการออกแบบให้มีความกลมกลืนกัน

หนึ่งในข้อดีของการรวมบริษัทเข้าด้วยกันคือ มันทำให้เรามีความมั่นใจเวลาที่จะต้องไปรับงาน ถ้าเราไป Approach งานร่วมกัน เราก็จะไปแบบครอบคลุมเลย เพราะเรารู้ว่าเราสามารถรับงานได้ทั้งหมด

ถ้าเรารู้ว่าลูกค้าอยากได้งานแบบไหน ทั้งสองบริษัทก็จะ “ผนึกกำลังกัน” เพื่อทำให้ลูกค้าได้งานที่มากไปกว่าการไปจ้างบริษัทออกแบบเดี่ยวๆแยกกัน เพราะเวลาที่เรา Approach งาน เราจะนำเสนอแบบที่คิดมาด้วยกันแล้วเป็นชิ้นเดียวเบ็ดเสร็จเลยตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่า Architect เสนอไปอย่าง Landscape เสนอไปอีกอย่าง แล้วจึงค่อยเอามารวมกันทีหลัง ยิ่งถ้าเราได้ทำ Master Planning ด้วย มันก็จะทำให้สนุกมากขึ้นไปอีก

จนถึงวันนี้ ความคิดแรกเริ่มในวันที่เราจับมือกัน ที่อยากจะทำให้งาน Landscape กับ Architecture มัน blend เป็นชิ้นเดียวกัน ยังคงเป็นแกนหลักให้กับการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทอยู่ แต่บนเส้นทางของการทำงานที่ทุกคนย่อมต้องเติบโต ทัศนคติในการออกแบบก็เคลื่อนไปด้วยเช่นกัน “มันก็เหมือนกับคน 2 คนที่ตัดสินใจมาแต่งงานกัน เพราะคิดว่ามีอะไรที่ตรงกันจึงตัดสินใจที่จะมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่พอเวลาผ่านไป คนทั้งคู่ก็เติบโตขึ้น และต่างก็ได้พัฒนาตัวตนซึ่งเคลื่อนที่ไปจากจุดแรกเริ่มไม่มากก็น้อย”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 10 ปีผ่านไปในการทำงานร่วมกันของ RAFA Design และ RAFA Plus Architect ทั้ง 2 บริษัทเติบโตขึ้นและต่างก็มีเส้นทางเดินเป็นของตัวเอง แต่เราก็ยังเดินมาเจอกันได้ตามจังหวะที่เหมาะสม และเวลาที่เรามาทำงานด้วยกันเราก็ทำงานร่วมกันได้อย่างดีด้วยนะ เพียงแต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันไม่ได้มีเพียงสูตรเดียว มันมีสูตรอื่นอีกตั้งหลายสูตร...

โปรดติดตามตอนต่อไปของ Photosynthesis (Ep.2/2) ได้ที่ RAFA – ผลัดใบ

“ถ้าคุณเป็น Freelance ที่เชื่อถือได้ คุณก็เป็นสถาปนิกที่มีความน่าเชื่อถือได้เช่นเดียวกัน”ระบบการทำงานแบบ Man-hour ของระฟ...
27/09/2016

“ถ้าคุณเป็น Freelance ที่เชื่อถือได้ คุณก็เป็นสถาปนิกที่มีความน่าเชื่อถือได้เช่นเดียวกัน”

ระบบการทำงานแบบ Man-hour ของระฟ้าเริ่มต้นมาจากการทำงานรวมกลุ่มกันของสถาปนิกที่เป็น freelance ภายใต้ชื่อ ATDG (Anucha Tangsriviriyakul Design Group) ซึ่งพี่ชา (คุณอนุชา ตั้งศรีวิริยะกุล) ได้พัฒนาวิธีการจัดการกับพนักงานที่เป็น Freelance ด้วยความคิดที่ว่า คนเหล่านี้เป็นกลุ่มสถาปนิกที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นจะต้องโดนกรอบของบริษัทมาครอบ ทุกคนควรสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานได้ และสามารถมีเวลาส่วนตัวอยู่กับครอบครัวได้ด้วย แต่ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของความเป็นสถาปนิกแบบ Freelance กับสถาปนิกในบริษัทนั้นเท่าเทียมกัน

ด้วยเหตุนี้ ระบบ Anywhere office จึงเกิดขึ้น สถาปนิก Freelance จะทำงานที่ไหนก็ได้ แล้วค่อยมานัดเจอกันที่ร้านกาแฟหรือร้านข้าวต้มเพื่อคุยงานกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับไปทำงาน โดยทุกคนก็ลงชั่วโมงทำงานและได้รับเงินตามชั่วโมงการทำงานจริง

ในภายหลัง เมื่อมีงานเข้ามามากขึ้น พี่ชาจึงได้ตั้งเป็นบริษัท RAFA Plus Architect ขึ้น โดยยังคงระบบการทำงานแบบ Man-hour นี้ไว้ ซึ่งมีข้อดีตรงที่พนักงานจะมีอิสระในการทำงานมากกว่า โดยยึดถือคุณภาพของงานเป็นที่ตั้ง ปัจจุบัน...ในบริษัทระฟ้าทั้ง 2 บริษัทมีการจ้างงานทั้งแบบ Payroll และแบบ Man-hour ซึ่งเหมาะกับสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ต้องการมีอิสระและทางเลือกในการทำงาน

ติดตามได้ใน RAFA - ผลัดใบ

“Storm Ep.3/3” (พายุซัด ตอนที่ 3)ระฟ้า...คืนชีพ จากออฟฟิศที่มีไม่รู้ตั้งกี่ห้อง ตอนนั้น เหลือเปิดไฟอยู่เพียงห้องเดียว ที...
08/09/2016

“Storm Ep.3/3” (พายุซัด ตอนที่ 3)

ระฟ้า...คืนชีพ

จากออฟฟิศที่มีไม่รู้ตั้งกี่ห้อง ตอนนั้น เหลือเปิดไฟอยู่เพียงห้องเดียว ที่เหลือปิดไฟหมด มันเศร้านะ แต่มันก็ต้องอยู่ให้ได้...

เมื่อไม่มีงาน landscape เข้ามาเลย เราจึงต้องดิ้นรนหันไปทำงานรับเหมาออกแบบ Interior ออกแบบ เคลียร์แบบกันเอง โชคดีที่เราเคยมีประสบการณ์มาบ้าง ทั้งออกแบบบ้านและตกแต่งภายใน เราก็คิดว่าน่าจะดีก็เลยลองไปทำออกแบบรับเหมาดู จริงๆเราไม่ได้อยากจะเปลี่ยนบทบาทจาก Designer ไปเป็น Contractor หรอกนะ แต่มันก็ต้องทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ในตอนนั้นจำได้ว่าต้องไปเดินซื้อเฟอร์นิเจอร์เอง คุมงานก่อสร้างเอง และที่ลืมไม่ลงเลยก็คือ ตอนที่เราไปรับทำออฟฟิศหนึ่งที่เรียกได้ว่า suffer สุดๆ เพราะลูกค้าเขามองเราเป็นผู้รับเหมา เราถูกด่าแบบไม่เห็นหัวเลย ทั้งเช้าทั้งเย็น ใช้คำพูดจาที่แย่มากๆ “ผม (พี่อู๋) ถึงขึ้นนอนไม่หลับ ในใจคิดว่า ทำไมเราต้องมาเจอสภาพแบบนี้...”

นี่คือช่วงปี 40-42 ที่น่าจะเรียกได้ว่าวงการภูมิสถาปัตยกรรมตกต่ำที่สุด สถานการณ์มันพลิกผัน จากช่วงปี 38-39 ที่อยู่กันอย่างหรูหรา แต่ภายในเวลาเพียงแค่ 1-2 ปีหลังจากนั้น ชีวิตก็เหมือนกับตกสวรรค์ ถือเป็นช่วงเวลาที่สาหัสและเลวร้ายที่สุดของช่วงชีวิตการทำงานเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นจำได้ว่า มีหลายงานมากที่เมื่อวานยังคุยๆโอเคกันอยู่เลย รุ่งขึ้นกลับหยุดไปซะแล้ว ตอนนั้นออฟฟิศอื่นๆส่วนใหญ่ปิดไปเกือบหมดแล้ว แต่เราสองคน (พี่ชัยรัตน์กับพี่อู๋) ไม่เคยคิดจะไปทำอาชีพอื่นเลย เพราะเราทำอย่างอื่นไม่เป็น ฉะนั้นถึงจะไม่มีงานใหม่เข้ามา เราก็ยังคงทำงานที่เราเหลืออยู่ 3-4 งานต่อไป

ผลพวงจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำนี้ทำให้เพื่อนๆหลายคนในวงการต้องดิ้นรนไปเสี่ยงชีวิตขุดทองที่เมืองนอก ที่ทราบก็มีไปทำงานที่สิงคโปร์ อเมริกา ดูไบ บางคนก็ส่งงานกลับมาให้เราช่วยทำ อยู่ได้ก็มี ล้มไปบ้างก็มี

เรื่องจ่ายเงินช้านี่ถือเป็นเรื่องธรรมดาในยุคนั้น แทบจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่รู้กันเลยว่า งวดสุดท้าย คือ 10% หลังสุดนี่มักจะแทงศูนย์ คือส่วนใหญ่จะไม่ได้เงิน มีหลายงานที่ผมต้องไปนั่งเฝ้าเพื่อเรียกเก็บเงิน อ้อนวอนลูกค้าให้จ่ายเงิน (เอาน่านะ...เราดีกันนะๆ) และอีกหลายงานที่ออกแบบเสร็จไปแล้วแต่ต้องรออีกเป็นปีถึงจะเรียกเก็บเงินได้

ต้องเรียกว่าตอนนั้นทุกคนประคองชีวิตแบบหายใจน้อยๆ ประหยัดออกซิเจน แต่ทุกคนก็ยังคงดิ้นรนหางานตลอดเวลา จนต่อมากลุ่มพี่ๆสถาปนิกที่เป็นพันธมิตรกับเราก็เริ่มได้งาน และผลจากการที่เราทำงานร่วมกับเขาได้อย่างดีตลอดมา ทำให้ระฟ้ามีพันธมิตรที่ดีๆมากมาย พี่ๆสถาปนิกก็เริ่มส่งงานต่อให้เรา จนในช่วงปี 43-44 บริษัทก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนี้มันได้ให้บทเรียนกับระฟ้า ว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก เราไม่ควรจะกลับไปสู่สภาพที่ย่ำแย่แบบนั้นอีกแล้ว ออฟฟิศจำเป็นจะต้องสร้างระบบอะไรบางอย่างที่เตือนให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่า “ตายไปครึ่งตัวแล้ว ยังไม่รู้อีกเหรอ!”

หลังเหตุการณ์นั้น จากที่เราไม่เคยสนใจการเงิน เราจะต้องรู้แล้วว่า ออฟฟิศมีเงินเท่าไหร่ เราเรียนรู้ว่า ออฟฟิศจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการเงิน และมี Security ทางการเงิน เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ มันยังทำให้เรารู้ว่า เราไม่ควรจ้างคนแบบสุรุ่ยสุร่าย สมัยก่อนผมต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนละ 3 แสนบาท ซึ่งถือว่าเยอะมาก มันเหนื่อยมากๆ เหตุการณ์นี้มันทำให้เราเข็ด และต้องหันมาคิดเรื่องการบริหารการเงิน

จากนั้นมา...เราจึงตัดสินใจคุมกำเนิดไม่ให้บริษัทโตจนเกินไป ถ้าช่วงไหนมีงานเยอะ เราจะใช้วิธีจ้าง Outsource แทนที่จะจ้างพนักงานประจำเยอะๆ นอกจากนี้ เราได้เลือกที่จะเพิ่ม Efficiency ของคนแทนการเพิ่มจำนวนคน โดยการหาวิธีที่ทำให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งภายหลังเราพบว่าเป็นวิธีที่ work มากๆกับการดำเนินการของออฟฟิศในปัจจุบัน

ติดตามเรื่องราวตอนต่อไปของ "RAFA - ผลัดใบ" ได้ ทุกวันที่ 25 ของเดือน

ที่อยู่

193/151 Lake Rajada Office Complex, 12th Floor (Unit G) Rachadapisek Road, Klongtoey
Bangkok
10110

เบอร์โทรศัพท์

0-2661-8130

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ RAFA - ผลัดใบผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

วิดีโอทั้งหมด

แชร์

ตำแหน่งใกล้เคียง สำนักงานตัวแทนจัดการท่องเที่ยว


Bangkok สำนักงานตัวแทนจัดการท่องเที่ยวอื่นๆ

แสดงผลทั้งหมด